เคทีซีทำกำไรนิวไฮ 7 ปีต่อเนื่อง เตรียมปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 เร่งปั๊มฐานสมาชิกและพอร์ตลูกหนี้ เดินหน้ากด NPL พร้อมรับมือ TFRS9

บัตรเครดิต บัตรสินเชื่อ บัตรสะสมแต้ม บัตรสมาชิก

เคทีซีทุบสถิติใหม่ต่อเนื่อง 7 ปีซ้อน เปิดกำไรสุทธิปี 2562 ที่ 5,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% อัตราการเติบโตของยอดลูกหนี้บัตรเครดิตสูงสุดในรอบ 3 ปี คุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในอัตราต่ำต่อเนื่อง ประกาศเป้าหมายปี 2563 เติบโตคุณภาพทุกด้านอย่างยั่งยืน และพร้อมรับมาตรฐานการรายงานทางเงินฉบับที่ 9: เครื่องมือทางการเงิน (TFRS9)

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจที่ยืดเยื้อในปี 2562 ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งการปรับตัวของไทยเพื่อรับกับกระแสดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐที่เอื้อให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนเกิดความสะดวกสบายต่อการใช้งาน ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการตลาดอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น”

“สำหรับเคทีซีได้ปรับเปลี่ยนแผนงานระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเตรียมรับมือกับหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องถึงปี 2563 การกำหนดแผน กลยุทธ์ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายและผลลัพธ์เดียวกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่ทำให้เคทีซีมีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยในปี 2562 สามารถทำกำไรสุทธิได้ 5,524 ล้านบาท และมีอัตราเติบโตของยอดลูกหนี้ธุรกิจบัตรเครดิตสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งมีพอร์ตลูกหนี้รวมและยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่สูงขึ้น และมีการควบคุมคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ที่ดีต่อเนื่อง โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและสำรองตามกฎหมาย”

“ปี 2563 จะเป็นปีที่ท้าทายและคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่สูงมาก บริษัทจะมุ่งควบคุมคุณภาพหนี้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มฐานบัตร พอร์ตลูกหนี้ ปริมาณสินเชื่อ ด้วยค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่มากขึ้นเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยเป้าหมายที่คาดไว้สำหรับธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกันภายใต้ใบอนุญาตของสินเชื่อบุคคล ได้แก่ ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรโดยรวมไม่ต่ำกว่า 15% พอร์ตลูกหนี้รวมเพิ่มขึ้นประมาณ 10% คุม NPL อย่างรัดกุมแต่อาจจะมีอัตราสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย และรักษาระดับกำไรให้ไม่น้อยกว่าเดิม”

“สำหรับการดำเนิน 3 ธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกัน ธุรกิจสินเชื่อพิโก ไฟแนนซ์ และธุรกิจสินเชื่อนาโน ไฟแนนซ์ เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ แต่ยังเร็วเกินกว่าที่จะกำหนดเป้าหมายการเติบโตในอนาคตที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามเคทีซีตั้งใจพัฒนาธุรกิจดังกล่าวให้เป็นฐานของบริษัทที่เข้มแข็งในอนาคต โดยจะ

ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและละเอียดรอบคอบ ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนประกอบของกระบวนการทำงานที่ทันสมัยและแตกต่างจากเดิม การทดสอบและการเข้าสู่ตลาดจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรัด โดยเฉพาะท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีความท้าทายสูง บริษัทต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตให้ชัดเจนระหว่างทำการทดสอบทุกครั้ง สำหรับการบังคับใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 ในปี 2563 บริษัทฯ มีความพร้อมรับมือไว้แล้ว โดยจะไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานจริงของบริษัทฯ เพียงแต่จะมีการรายงานตัวเลขทางการเงินที่แตกต่างไปจากเดิม”

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เคทีซีมีผลประกอบการเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ดังนี้ กำไรสุทธิ 5,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 85,834 ล้านบาท (เติบโต 9.8%) ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี (เติบโต 2%) แบ่งเป็นธุรกิจบัตรเครดิต 2,510,914 บัตร (ขยายตัว 5.2%) พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 56,653 ล้านบาท (ขยายตัว 10.9%) อัตราเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสำหรับปี 2562 เท่ากับ 10.6% NPL รวม ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 1.06% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 0.93% ธุรกิจสินเชื่อบุคคลมีจำนวนทั้งสิ้น 888,342 บัญชี (ลดลง 6.7%) ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 28,933 ล้านบาท (เติบโต 7.9%) NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.92%

ในปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวมเท่ากับ 22,625 เพิ่มขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 7.5% รายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 7.9% รายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) เพิ่มขึ้น 4.9% และรายได้อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหนี้สูญได้รับคืนคิดเป็น 87.7% ของรายได้อื่นๆ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายการบริหารงานเท่ากับ 7,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่สูงขึ้น 11.5% ในการเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล และการเพิ่มโปรโมชันการตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยที่ค่าใช้จ่ายด้านบุคคล ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานอื่นๆ และค่าธรรมเนียมจ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 3.2% 0.5% และ 0.3% ตามลำดับ บริษัทฯ มีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มที่ 12.8% จากการตั้งสำรองและตัดหนี้สูญเพื่อคัดกรองให้พอร์ตลูกหนี้มีคุณภาพ ส่วนค่าใช้จ่ายทางการเงินใกล้เคียงเดิมเนื่องจากบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการเงินได้ดี เป็นผลให้บริษัทมีกำไรเติบโตต่อเนื่อง และการมุ่งเพิ่มฐานลูกค้าให้มากขึ้นจะเป็นการสร้างผลกำไรที่ยั่งยืนในอนาคต

---------------------------------------------------------------

  • ผู้โพสต์ :
    kan-kan251
  • อัพเดทเมื่อ :
    17 ม.ค. 2020 10:13:26

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา