พูดไม่เก็ตต้องสเก็ตซ์ด้วยภาพ เจาะลึกการสื่อสารด้วย Infographics แบบ Professional

การศึกษา ภาษา ติวเตอร์

พูดไม่เก็ตต้องสเก็ตซ์ด้วยภาพ เจาะลึกการสื่อสารด้วย Infographics แบบ Professional

โดย ผศ.สุพลพรหมมาพันธุ์

อาจารย์ประจำสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

จากที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมกับคณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง จัดโครงการเสวนาพิเศษ Tech Season 4#8 ในหัวข้อ "พูดไม่เก็ตต้องสเก็ตซ์ด้วยภาพ เจาะลึกการสื่อสารด้วย Infographics แบบ Professional" โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรพิเศษ คุณเมย์วดี จงฟูสุวรรณ Accounting Manager บริษัท Infographics Thailand ณ ห้อง Auditorium 1 อาคาร 40 ปี มหาวิทยาลัยศรีปทุม พอสรุปประมวลความในเรื่องดังกล่าวได้ดังนี้

การสื่อสารด้วยภาพ (Visual Communication) ได้มีมานานแล้ว ย้อนหลังไปเมื่อ 3,200 ปี มีการบันทึกเรื่องเล่าการบูชาเทพ ศาสนา (Hero graphic) บนผนังปิรามิดที่ประเทศอียิปต์ ในยุคของข้อมูลข่าวสาร (The Era of Information) มีคำถามว่า ทำไมต้องใช้ Infographic ในการสื่อสาร เพราะว่าสมองของมนุษย์รับข้อมูลได้ เท่ากับหนังสือพิมพ์ 174 เล่ม ทุกวัน แต่สามารถจดจำได้เพียง 1% เท่านั้น สมองของมนุษย์ประมวลผลภาพมากกว่าตัวอักษร ดังนั้น Infographic จึงเข้ามาช่วยตรงนี้ คือ ข้อมูลที่ผ่านการสื่อสารออกมาเป็นภาพ Infographics คืออะไร Infographics ย่อมาจาก Information Graphics คือ ภาพกราฟิกส์ซึ่งบ่งชี้ถึงข้อมูลความรู้ ตัวเลข สถิติ เปอร์เซ็นต์ เป็นการย่นย่อสรุปข้อมูลให้สั้นกระชับรวดเร็วและชัดเจน โดยอาจแสดงเป็นลายเส้น สัญลักษณ์ กราฟ แผนภูมิ ไดอะแกรม หรือแผนที่ ทำให้สามารถประมวลผลเข้าใจและตัดสินใจได้ง่าย เหมาะสมกับคนยุคปัจจุบันที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลหรือสารสนเทศที่ซับซ้อนจำนวนมหาศาลที่เรียกกันว่า Big Data ในระยะเวลาอันจำกัด

ข้อดีของอินโฟกราฟิกส์ คือ (1).ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้อ่านทุกกลุ่ม ทั้งนักเรียน ครู และบุคคลากรต่างๆ ด้านการศึกษา (2). ผู้ใช้สามารถจดจำเนื้อหาที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น (3).เป็นประโยชน์ในการทำซ้ำหรือเผยแพร่ข้อมูล (4).ประหยัดเวลาของผู้อ่าน เพราะการอ่านง่ายทำให้สามารถศึกษาข้อมูลยากๆ ได้เร็วขึ้น (5). ดึงดูดความสนใจได้ง่าย เพราะ Infographics ประกอบด้วยสีสันและลวดลายที่น่าสนใจ (6). การเพิ่ม Infographics ให้เว็บไซต์ สามารถเสริมภาพลักษณ์ความสร้างสรรค์ให้เว็บได้ (7).เพิ่มทราฟฟิก (Traffic) ให้กับเว็บไซต์ เพราะความง่ายในการศึกษาอาจทำให้มีผู้ติดใจต้องการกลับมาชม Infographics ใหม่ๆ ตลอดเวลา

การสร้าง Infographics ต้องรู้เรื่องวิธีการอ่าน พร้อมทำความเข้าใจเรื่องราวให้ชัดเจน และต้องทำ Contents ให้มีความน่าสนใจ คือ ต้องหาข้อมูล ออกแบบข้อมูล และทำข้อมูล วิธีการ สร้าง Infographics ที่ดี ต้องมีองค์ประกอบ คือ (1). การออกแบบ (Design) เน้นความสวยงาม (2). เรื่องมีประโยชน์ (Stories) (3).เนื้อหามีความน่าเชื่อถือ (Content)

กระบวนการสร้าง Infographic ที่ดีมีทั้งหมด 7 ขั้นตอน (7 Steps to Create a good Infographics) คือ:

ขั้นตอนที่ (1). การกำหนดวัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมาย (Setting Objective and Target Audience) การกำหนดวัตถุประสงค์ ต้องตรงกับกลุ่มเป้าหมายว่าเกี่ยวเรื่องอะไร ทำเพื่อใคร ขายให้ใคร โดยต้องคำนึงถึง เรื่องของความเร้าใจ (Inspiring), การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม (Change Behavior), ด้านการศึกษา (Education), ด้านความบันเทิง (Entertaining), ด้านการขาย (Sale), ข้อควรตระหนัก (Awareness), การเปลี่ยนแปลงท่าที (Change Attitude), และการตั้งค่า (Preference) ตัวอย่าง เช่น โปสเตอร์ที่ใช้หาเสียงของนักการเมือง ต้องมีลักษณะโน้มน้าวให้เกิดความน่าเชื่อถือ หรือการขายครีมบำรุงผิวหน้า ต้องให้ข้อมูลความรู้แก่ลูกค้าก่อน และควรคำนึงถึงหลักของประชากรศาสตร์ (Demographic) ซึ่งเกี่ยวกับเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ หลักของภูมิศาสตร์ (Geographic) ได้แก่ประเทศ ภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม เช่น รถสองแถวสีแดงที่ จ.เชียงใหม่ ราคาคนท้องถิ่นอีกราคาหนึ่ง ราคานักท่องเที่ยวอีกราคาหนึ่ง เป็นต้น

ขั้นตอนที่ (2). บีบเนื้อหา (Squeezing Contents) ให้กระชับมีความแข็งแรง เลือกคัดสรรหรือย่อยข้อมูลเพื่อใส่ใน Infographic ว่าจะจัดการกับข้อมูลอย่างไรดีเพื่อสกัดเนื้อหาให้กระชับ เมื่อทำควรคิดถึงกลุ่มเป้าหมาย และวัตถุประสงค์เสมอ เนื้อหา ควรเป็นสถิติที่น่าสนใจ, เป็นเรื่องที่พูดยํ้าๆ, เป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน, เป็นเรื่องที่มีผลกับจิตใจ, เป็นเรื่องที่มีเหตุ-ผล เช่น เป็นเรื่องที่มีเหตุ-ผล เหตุ คือเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การเรียกประกัน กว่าจะมาใช้เวลานาน ระบบของประกันทั่วไปต้องใช้คนมาดูที่สถานที่ จึงเสียเวลาการเดินทาง ต้องรอการประเมินของเจ้าหน้าที่ และ เป็นกิจกรรมที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ผล การใช้แอพพลิเคชั่นจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตการเคลมประกันรถยนต์แบบเดิมไป แก้ไขปัญหาไม่ต้องรอเวลาหรือ รอเจ้าหน้าที่ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ด้วยการถ่ายรูป ส่งเข้า App วิธีใช้ App ง่าย มี Function ครบสำหรับการเคลมประกัน

ขั้นตอนที่ (3). การเชื่อมโยงเรื่องราว (Linking Stories) การเอาเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนรู้มาก่อนมาจัดทำ มีการร้อยเรียงลำดับให้เป็นเรื่องที่ชัดเจน ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป จัดกลุ่มข้อมูล จำแนกข้อมูลออกมาเป็นกลุ่ม คำนึงถึง ปัญหาที่เกิด, สาเหตุ, ผลดี, ผลเสีย, วิธีแก้ไข

ขั้นตอนที่ (4). การสร้างหัวข้อไอเดียและเรื่องราว (Create Topic Ideas & Stories) ด้วยการนำความคิดมาเล่าเรื่อง ควรมีหัวข้อหลัก สั้นกระชับ เข้าใจง่าย น่าสนใจ และตรงประเด็น มีการเล่าเรื่องที่สร้างอารมณ์ ความรู้สึก เช่น การจะทำ Infographic เกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อไม่ให้เงินกับคนขอทาน ควรใส่คำว่า “สงสารเท่ากับส่งเสริม” เป็นต้น หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง Apps Claim Di เขาใส่ Keyword ได้ตรงประเด็นด้วยข้อความว่า “ชนปุ๊บ แยกปั๊บ! ไม่ต้องรอเคลมประกัน ด้วย Claim Di”

ขั้นตอนที่ (5). การร่างโครงร่างของอินโฟกราฟิกส์ (Step 5 Drafting Infographic Outline) การร่างทำให้การบริหารงานมีความถูกต้อง คือ มีหัวข้อ (Headline) เช่น หัวข้อเช่นเดียวกับหัวข้อข่าว มีหัวข้อย่อย (Sub-Headline) การทำโครงร่างเนื้อหาควรมีครบกระบวนการ คือ ต้น (หัวเรื่อง), กลาง (ใจความ), จบ (สรุป) มีการอ้างอิงเนื้อหาและรูปภาพ มีการใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูป (Template) มีการลำดับเวลา เช่น ประวัติความเป็นมาของบริษัท มีการเปรียบเทียบ ใช้เครื่องมือหลายๆ อย่าง เช่น Flowchart เป็นต้น

ขั้นตอนที่ (6) การออกแบบอินโฟกราฟิกส์ (Designing Infographic) การออกแบบต้องมีหัวข้อหลัก มีหัวข้อย่อย มีการนำไอคอนมาใส่ มีความแข็งแรงของข้อมูล เช่น มาจากไหน มาจากใคร มีโครงสร้าง สี แนะนำให้ใช้เพียง 3 สี จาก 5 สี โดยอนุโลมให้ใช้ 3 สี ที่มีเฉดสีใกล้เคียงกัน ในที่นี้ขอแนะนำให้ใช้ Adobe AI หรือ Adobe Illustrator ขั้นตอนที่ (7).การทดสอบ (Test) เมื่อออกแบบ Infographic เรียบร้อยแล้วต้องมีการทดสอบการใช้งานบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แตกต่างกัน เช่น บนเว็บไซต์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน จนมั่นใจได้ว่า สามารถนำ Infographics นั้นไปเปิดใช้งานได้บนทุกอุปกรณ์

ท้ายสุด เป็นการแนะนำการใช้โปรแกรม Piktochart เพื่อให้ Infographics มีความสวยงามและดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น Piktochart คือเว็บไซต์ หรือซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการออกแบบและสร้างสรรค์งานอินโฟกราฟิกส์ (Infographics), งานนำเสนอ (Presentations), รายงาน (Reports), ใบปลิว (Flyers), โปสเตอร์ (Posters) ที่ง่ายไม่ซับซ้อน และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่มีการเสียค่าธรรมเนียมสำหรับนักออกแบบ ภายในเว็บไซต์จะประกอบด้วยเครื่องมือที่ช่วยในการออกแบบชิ้นงานและมีแม่แบบสำเร็จรูปให้ซึ่งง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน เหมาะสำหรับการออกแบบชิ้นงานทั้งแบบคนเดียวและเป็นทีม ซึ่งสามารถตรวจสอบชิ้นงานร่วมกันได้ ภายหลังจากที่ได้ทำการออกแบบเสร็จแล้วยังสามารถบันทึกเพื่อนำมาใช้งานได้ในรูปแบบของไฟล์ PNG, JPEG และ PDF หรือส่งต่อหรือแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ ได้อีกด้วย สามารถเข้าไปศึกษาและสร้าง Infographic ได้ที่เว็บไซต์ http://piktochart.com.

เบอร์โทร : 0824995636
เว็บไซต์ : spu.ac.th
  • ผู้โพสต์ :
    kanokpong
  • อัพเดทเมื่อ :
    22 ต.ค. 2019 16:20:54

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา