ประกาศเกียรติคุณ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ประจำปีการศึกษา 2560

การศึกษา ภาษา ติวเตอร์

สภามหาวิทยาลัยศรีปทุม มีมติเป็นเอกฉันท์ มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ประเภททั่วไป แก่ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตกรรม)ประจำ 2554


คำประกาศเกียรติคุณ

นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมประเภททั่วไป

มหาวิทยาลัยศรีปทุม


นายเฉลิมชัยโฆษิตพิพัฒน์ ถือกำเนิด ณ หมู่บ้านร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2498 เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายไพศาล และนางพรศรี อยู่สุขสำเร็จการศึกษา ศิลปบัณฑิต สาขาศิลปะไทย จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์(จิตรกรรมไทย) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2559

นายเฉลิมชัยโฆษิตพิพัฒน์รังสรรค์ผลงานศิลปะ ทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น และมีคุณค่าในทางศิลปะจำนวนมาก ที่สำคัญคือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้เขียนภาพประกอบ บทพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" และออกแบบเหรียญพระราชทานคณะแพทย์และพยาบาล ผู้รักษาพระหทัย เมื่อครั้งประชวรครั้งแรก เป็นที่ปรึกษากรมศิลปากร งานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ปรึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแบบธนบัตรราชาภิเษกสมรส ครบ 50 ปีเขียนภาพจิตรกรรมติดพระตำหนัก จังหวัดกระบี่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพุทธปทีปและผลงานจิตรกรรมหลายชิ้นที่ได้รับรางวัลจากการประกวดงานศิลปะ เช่น รางวัลที่ 1 เหรียญทอง จากการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 3 ของธนาคารกรุงเทพรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 25 และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2554และได้รับรางวัล “ศาสตรเมธี” สาขาศิลปกรรมศาสตร์ ด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2558 จากมูลนิธิศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

ผลงานที่กล่าวถึงข้างต้นส่วนใหญ่เป็นผลงานด้านจิตรกรรม และประติมากรรม แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง คือผลงานด้านสถาปัตยกรรมผลงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่แสดงถึงความรู้ความสามารถทางสถาปัตยกรรม และความรู้หลากหลายแขนงทางศิลปะมาประกอบกันคือวัดร่องขุ่น หรือที่ถูกเรียกในระดับนานาชาติว่าThe White Temple นั้นเกิดจากแรงบันดาลใจหลังจากที่ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ได้เดินทางกลับมาจากการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ วัดพุทธปทีป ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยร่วมในทีมวาดรูปประกอบ หนังสือพระมหาชนก เกิดแรงบันดาลใจ และตั้งใจว่าชีวิตนี้พร้อมจะถวาย เพื่อสร้างงานสถาปัตยกรรมไว้คู่พระบารมี จึงได้เริ่มลงมือออกแบบอุโบสถ วัดร่องขุ่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบันคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ มิได้มีเพียงงานสถาปัตยกรรมที่งดงามและแฝงด้วยความหมายทางพุทธภูมิเท่านั้น หากยังประกอบด้วย การออกแบบผังบริเวณโดยรอบที่สะท้อนสัจธรรมตามคำสอนในพุทธศาสนา งานออกแบบภูมิทัศน์ โดยรอบที่ส่งเสริมงานสถาปัตยกรรม และความงดงามของการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน รวมไปถึงงานวิจิตรศิลป์ เช่น ภาพเขียนภายในอุโบสถ และองค์ประกอบแวดล้อมทั้งหมดในงานสถาปัตยกรรมที่ปรากฏให้เห็นจึงอาจกล่าวได้ว่า วัดร่องขุ่น เป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมรูปแบบประเพณีทางศาสนา ที่เป็นตัวแทนแห่งรัชสมัยในรัชกาลที่ 9 สร้างคุณค่าทางด้านจิตใจต่อชุมชน อำเภอและจังหวัด รวมไปถึงความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศนอกจากนั้นยังสร้างมูลค่าและสร้างรายได้ กลับมาสู่ประเทศไทย จนถือว่าเป็น Destination in Thailand และได้รับการโหวตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม และน่าประทับใจ ประเภทศาสนสถานเป็นลำดับที่3 ของโลก (3 Top 10 Underappreciated Wonders Of The World)

ด้วยประจักษ์ในผลงานด้านสถาปัตยกรรมแล้ว นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ มีส่วนสนับสนุน สร้างมูลค่า และสร้างรายได้ในด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายและสังคมของประเทศสภามหาวิทยาลัยศรีปทุม มีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ประเภททั่วไปแก่นายเฉลิมชัยโฆษิตพิพัฒน์เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

“คนเราเกิดมามีการสั่งสมสันดาน จนเป็นคนนั้นๆ เช่น เกิดมาก็มีสันดานของตัวเอง ซึ่งทุกคนล้วนมีสันดานและตายไปกับสันดานนั้น ถือว่าไม่บรรลุธรรม เพราะไม่มีเปลี่ยนแปลงและไม่มีธรรมในใจ”

นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

เบอร์โทร : 0824995636
เว็บไซต์ : spu.ac.th
  • ผู้โพสต์ :
    kanokpong
  • อัพเดทเมื่อ :
    18 ก.พ. 2020 10:28:20

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา