ไขคำตอบ! การเรียนการสอน วิศวกรรมศาสตร์ Online ช่วงวิกฤติ COVID-19 "จะเป็นอย่างไร"

การศึกษา ภาษา ติวเตอร์

"ทุกวิกฤติ มีโอกาสเสมอ" คำๆนี้น่าจะเหมาะกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid-19 ในช่วงนี้เป็นที่สุด ในขณะที่ทุกคนกำลังตั้งคำถาม..ว่า เมื่อไหร่? สถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid-19 จะหยุดแพร่กระจายหรือหายไปสักที่! ซึ่งก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ เราจึงต้องหันมาเปลี่ยนวิกฤติที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาส ด้วยการเรียนรู้และปรับตัวเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น

วันนี้...จึงขอนำทุกท่านมาไขคำตอบเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์ ผ่านระบบออนไลน์ในช่วงวิกฤติโควิด-19 กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยศรีปทุม

ก่อนหน้านี้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้มีการจัดการเรียนการสอน ในรูปแบบ Online บ้างไหม ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง?

ผศ.ดร.ชลธิศ เล่าว่า ขอบอกก่อนเลยว่าการปรับตัวสำหรับเรียนออนไลน์เป็นเรื่องที่ไม่ได้ใหม่สำหรับเราเลยครับ เพราะมีการนำเทคโนโลยี online มาช่วยในการเรียนการสอนในทุกวิชา มาหลายปีก่อนหน้านี้แล้วครับ โดยจะเป็นการบันทึก VDO การสอนในชั้นเรียนที่นักศึกษาจะสามารถทบทวนได้ ในหลายวิชามี VDO on-demand สำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษาก่อนและหลังการเรียนในชั้นเรียน ในรูปแบบของ Flipped Classroom รวมถึงการมอบหมายงาน ทดสอบและส่งงานผ่าน ระบบ e-Learning ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนการใช้สื่อ Social Media และ Applications ต่างๆประกอบ สำหรับการสื่อสาร การจัดการชั้นเรียน เช่น Facebook หรือ LINE Group สำหรับแต่ละรายวิชา และการใช้ Google Drive, Form, Document ฯลฯ ช่วยในการจัดการเอกสารการเรียนการสอน ที่นักศึกษาสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก สามารถใช้เครื่องมือ online เหล่านี้ในการเรียนรู้ได้อย่างดี และอาจารย์ทุกท่านมีความคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือต่างๆเหล่านี้เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ที่แต่ละท่านได้ออกแบบไว้ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

ผศ.ดร.ชลธิศ เล่าต่อว่าอย่างไรก็ตาม การเรียนการสอน ในส่วนของการบรรยายสดผ่านระบบ Online 100% แทนการบรรยายในชั้นเรียน ยังไม่ได้มีโอกาสได้ทำในวงกว้าง อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จึงต้องมีการปรับตัวบ้าง เฉพาะในส่วนนี้ นอกจากนั้นกระบวนการสอบปลายภาคที่ปกติ เป็นการเข้าสอบในห้องสอบพร้อมๆกัน ต้องปรับเป็นกระบวนการวัดผลที่อาจารย์ผู้สอนสามารถออกแบบให้เหมาะสมกับลักษณะวิชาของตนเองมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในรูปแบบเดิมที่เหมือนกันทั้งมหาวิทยาลัย จึงถือได้ว่า วิกฤติในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์พัฒนา การเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น"

สิ่งที่ต้องปรับตัว ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่นักศึกษาจำเป็นต้องเรียน Online ใช้เวลาในการปรับตัวนานหรือไม่ และมีวิธีการอย่างไรบ้าง?

ผศ.ดร.ชลธิศ เล่าว่า การเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาประกอบด้วยองค์ประกอบหลายๆส่วน ดังที่กล่างไปข้างต้น โดยการบรรยายในชั้นเรียนและการวัดผลปลายภาคเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในขณะที่ส่วนประกอบอื่นๆของการเรียนการสอนได้มีการใช้กระบวนการทาง Online มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว การปรับตัวของอาจารย์ในการบรรยายสดและการวัดผลจะใช้เวลาไม่นานครับ แต่การเตรียมการผลิตสื่อการสอนและเครื่องมือ วิธีการ ในการวัดผลการเรียนรู้ของนักศึกษาทาง Online นั้นมีงานที่มากขึ้นกว่าเดิมมากและอาจารย์ต้องใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้างมากอย่างน้อยในช่วงเริ่มต้นนี้ เพื่อให้ยังคงเนื้อหา และที่สำคัญ “อรรถรสในการเรียนรู้” ในชั้นเรียน Online ให้ไม่ด้อยหรือดีขึ้นกว่าการบรรยายในชั้นเรียนปกติโดยอาจารย์ส่วนใหญ่จะใช้การบรรยายผ่าน ZOOM Application รวมถึงการใช้ LINE VDO หรือ Facebook Live สำหรับนักศึกษาใช้เวลาปรับตัวไม่นานครับ1-2 สัปดาห์ นักศึกษาก็เริ่มคุ้นชินแล้วครับอาจเป็นเพราะนักศึกษาสมัยนี้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากกว่านักศึกษาสมัยก่อนมากครับเลยทำให้ใช้เวลาปรับตัวไม่นานอย่างไรก็ตามกระบวนการเรียนการสอนทั้งแบบเดิมและแบบ online ต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องตามยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเพื่อให้ได้ประสิทธิผลที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปกติอยู่แล้ว การปรับตัวจึงไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใดครับ

อุปสรรคในการเรียนการสอน Online มีบ้างหรือไม่ และมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร?

ผศ.ดร.ชลธิศ เล่าว่า ข้อดีของการเรียนผ่าน online พบว่านักศึกษาทุกคนสามารถใกล้ชิดกับเนื้อหาและอาจารย์ผู้สอนได้เท่าเทียมกันทุกๆคนซึ่งต่างจากการเรียนในห้องเรียนที่ผู้เรียนกลางและหลังห้อง มักจะเสียเปรียบในการรับรู้เนื้อหาที่ต่างจากการนั่งหน้าห้องไม่มากก็น้อย รวมถึงเมื่อนักศึกษาอยู่ในบ้านทำให้มีความกล้าในการมีส่วนร่วมและสอบถามอาจารย์ได้ดีขึ้น

ส่วนอุปสรรคของการเรียนผ่าน online อาจจะทำให้ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปในระดับหนึ่งไม่เหมือนการนั่งเรียนในชั้นเรียนซึ่งมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจริงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมในการสร้างแรงบันดาลใจการกระตุ้นการเรียนรู้ได้ดีกว่าผ่านจอคอมพิวเตอร์

ดังนั้นผู้สอนจึงจำเป็นต้องสร้างกิจกรรมเพิ่มเติม และออกแบบจังหวะการเรียนรู้ให้เหมาะสม เช่น การทดสอบก่อนและหลัง การผลิต VDO on-demand สำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเอง การหยุดพัก ทักทาย การเสริมเทคนิคการอภิปรายตลอดจนการใช้ application ต่างๆเข้าช่วยเพื่อให้นักศึกษาสามารถติดตามการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องที่ไม่จำกัดเฉพาะชั่วโมงระหว่างการบรรยายเท่านั้นอุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการเรียนวิชาปฏิบัติการทางวิศวกรรมที่ต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการฝึกปฏิบัติซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะสามารถทดแทนด้วยการเรียนทาง online ได้ทั้งหมด ดังนั้นคณะฯจึงได้เตรียมการสอนชดเชยในส่วนนี้ไว้สำหรับนักศึกษาเมื่อสถานะการณ์กลับเป็นปกติในเทอมถัดไป

ความแตกต่างระหว่างการสอนในห้องเรียนปกติ & การสอน Online

ผศ.ดร.ชลธิศ เล่าว่า ความแตกต่างที่ชัดเจน คือการมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวเป็นๆระหว่างผู้สอนและผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ดังที่กล่าวข้างต้นในส่วนเนื้อหาการเรียนรู้ วิธีการทาง Online จะมีเครื่องมือช่วยได้ดีกว่าการบรรยายในชั้นเรียน แต่การสร้างอรรถรส แรงบันดาลใจ และการกระตุ้นการเรียนรู้ทาง online จะทำได้ยากกว่าโดยจำเป็นต้องมีเทคนิค กิจกรรม เครื่องมืออื่นๆเข้ามาเสริม

เป้าหมายของคณะหลังจากวิกฤตโควิด

ผศ.ดร.ชลธิศ เล่าว่า คงต้องมีการบูรณาการข้อดีของการใช้เทคโนโลยี online และ ข้อดีของการสอน การเรียนรู้ในชั้นเรียน ที่ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ไว้ด้วยกัน โดยออกแบบให้ การใช้เทคโนโลยี และการเรียนรู้ผ่าน online เป็นสิ่งที่เสริมกระบวนการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น โดยผู้สอนจะเป็นเหมือน Coach ส่งเสริมกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ จัดหาทรัพยากรแหล่งเรียนรู้ในการเรียนรู้ด้วยตนเองที่สามารถเข้าถึงได้ทาง online ไม่จำกัดสถานที่และเวลาโดยในช่วงปีที่ผ่านมาทางคณะฯได้เริ่มมีการดำเนินการบูรณาการในแนวทางนี้ในสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา รอบเรียนนอกเวลาราชการ สำหรับคนทำงานเต็มเวลา ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี

เสียงตอบรับจากนักศึกษาเป็นอย่างไร

ผศ.ดร.ชลธิศ เล่าว่า นักศึกษาส่วนใหญ่มีการตอบรับที่ดีและปรับตัวได้ครับ โดยอาจมีบางส่วนที่บ่นๆบ้างเป็นธรรมดาเนื่องจากรูปแบบการเรียนเปลี่ยนไปจากรูปแบบที่คุ้นเคยไปมาก ซึ่งคณะฯและผู้สอนทุกๆท่านเข้าใจได้ และก็หาทางปรับแก้ปัญหาสำหรับนักศึกษาแต่ละคนได้ครับ

สุดท้ายอยากฝากไว้ว่า “ควรเรียนรู้จากทุกวิกฤติที่เกิดขึ้นและนำไปปรับ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น และทุกวิกฤติ มีโอกาส และทักษะการปรับตัวโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ในการเรียนรู้สิ่งใหม่(Re-Learn) และการทิ้งสิ่งเก่า (Un-Learn) เป็นสิ่งที่สำคัญในโลกปัจจุบันและอนาคต เพราะ Disruption เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”

#Dek63 #SPU #ศรีปทุม #Sripatum #GATPAT #Onet #เรียนกับตัวจริงประสบการณ์จริง #คณะวิศวกรรมศาสตร์ #SPUยืนหนึ่งเรื่องเรียนออนไลน์

เบอร์โทร : 0824995636
เว็บไซต์ : spu.ac.th
  • ผู้โพสต์ :
    kanokpong
  • อัพเดทเมื่อ :
    29 เม.ย. 2020 17:55:41

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา