บีเอ็นวาย เมลลอน เผยทิศทางการลงทุนโลกปี 2566
แนะนักลงทุนตั้งรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ชูตราสารหนี้ยังเป็นสินทรัพย์ที่สดใส
บีเอ็นวาย เมลลอน ที่ปรึกษาการลงทุนระดับโลกและพันธมิตรของเมย์แบงก์ ประเทศไทย คาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนสำหรับปี 2566 โดยพิจารณาถึงผลกระทบของเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย ความเสี่ยง และความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนคาดการณ์แนวโน้มปัจจัยเสี่ยง สินทรัพย์ และโอกาสการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนได้จับตาดูและเตรียมพร้อมรับมือกับกระแสการลงทุนที่คาดว่าจะกลับมาร้อนแรงขึ้นในปีนี้
อนินดา มิตรา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคภูมิภาคเอเชียและกลยุทธ์การลงทุน (Head of Asia Macro and Investment Strategy) บีเอ็นวาย เมลลอน เปิดเผยว่า บีเอ็นวาย เมลลอน ไอเอ็ม ในฐานะบริหารเงินลงทุนทั่วโลกมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์การลงทุนในปี 2566 พบว่า นักลงทุนคาดว่าปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน และภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปี 2565 จะจบลง อย่างไรก็ดียังคงแนะนำให้เตรียมพร้อมรับกับความกดดันที่ยังคงมีอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้ พบว่านักลงทุนยังมีโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับการลงทุนภายในปีนี้เมื่อสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น โดย ตลาดหุ้นจะยังคงเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย และมีโอกาสที่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์บางกลุ่มอาจมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน จากวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น รวมถึงนโยบายทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าตราสารทุนในระยะสั้น เนื่องจากความสามารถในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่อัตราการเติบโตช้า ในทางตรงกันข้าม ตราสารทุนก็อาจทำผลงานได้ดีกว่ามากหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วพอภายหลังในปี 2566
ภาพรวมกลยุทธ์การลงทุนปี 2566
มุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค
บีเอ็นวาย เมลลอน ยังมีมุมมองต่อเศรษฐกิจมหภาคว่า นักลงทุนไม่เพียงแต่ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ยังคงต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อซึ่งกำลังเข้าสู่เฟสใหม่ โดยปัญหาหลักยังคงอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐอเมริกาอาจผ่านพ้นจุดสูงที่สุดไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ปรับตัวลดลงมาสู่ระดับที่ธนาคารกลางหรือ เฟด หวังไว้ เช่นกัน
นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ซึ่งระดับเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยยังคงสูงกว่ากลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ ในขณะเดียวกัน แม้ว่าแรงกดดันด้านอุปทานได้ผ่อนคลายลงบ้างแล้ว และมีความคืบหน้าที่ชัดเจนในการเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในทางกลับกัน จุดสนใจใหม่ย้ายมาอยู่ที่แรงกดดันจากอุปสงค์ ซึ่งสถานการณ์ยังคงไม่ได้เป็นบวกอย่างเต็มที่
“แรงกดดันด้านราคาค่าจ้าง ต้นทุนการจ้างงาน และแรงกดดันด้านราคาหลักยังคงสูง โดยอยู่ที่ประมาณ 5% - 6% ซึ่งยังไม่ลงมาใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ 2% ในเร็วๆ นี้” อนินดา มิตรา กล่าว
ความท้าทายและข้อควรพิจารณาในปี 2566
การรับมือโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ
วิกฤตพลังงานในยุโรป
เศรษฐกิจจีนชะลอตัว