สทน. MOU จับมือ มรภ.นครราชสีมา และ ม.เทคโนโลยีสุรนารี
ยกระดับ “อาหารถิ่นอีสาน” เพิ่มมูลค่าด้วยการฉายรังสี
กระทรวง อว. โดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU เรื่อง การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อยกระดับอาหารพื้นถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สู่นวัตกรรมอาหารปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566
รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผย หลังเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือฯว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจสังคมและเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจ มีการปรับตัว และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้ก้าวทันต่อการแข่งขันในตลาดโลก สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ “สทน.” เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ จึงได้จัดทำโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น ด้วยการฉายรังสีขึ้น เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถผลิตสินค้าและต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งมุ่งหวังให้อาหารพื้นถิ่นสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ตามนโยบายของกระทรวงฯ
“การฉายรังสี เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่กระทรวง อว.อยากให้มีการถ่ายทอดลงสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง เพราะแต่เดิมภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านอุดมศึกษา และด้านวิจัยและพัฒนา ทั้ง 3 ด้านนี้ อยู่คนละหน่วยงาน เมื่อรัฐบาลได้รวม 3 ภารกิจนี้เข้าไว้ด้วยกันเป็นกระทรวง อว. ในปี 2562 จึงนับว่ามีส่วนช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนการผลิตบุคลากรให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการต่อยอด เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยเทคโนโลยีจากงานวิจัย ถือเป็นการนำเอางานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างได้มากยิ่งขึ้น” รองปลัด อว. กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมา สทน. ได้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ด้านการฉายรังสีอาหาร ลงไปส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตอาหารพื้นถิ่น และกลุ่มผู้ประกอบการ SME มาแล้วใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ ซึ่งการจัดกิจกรรมทั้ง 3 ครั้ง ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้ประกอบการสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 432 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น ภาคกลาง 179 ผลิตภัณฑ์ ภาคใต้ 122 ผลิตภัณฑ์ และภาคเหนือ 132 ผลิตภัณฑ์”
“เวลาพูดถึงเรื่องการฉายรังสี หลายท่านอาจยังติดอยู่กับภาพความน่ากลัว ทั้งที่จริงการฉายรังสีอยู่ใกล้ตัวเรามาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษาโรคทางการแพทย์ หรือในทางการเกษตร ก็มีประโยชน์ในเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์พืช รวมทั้งช่วยป้องกันไม่ให้ไข่แมลงศัตรูพืชติดไปกับผลไม้สดส่งออก สำหรับเรื่องการฉายรังสีในอาหาร ก็สามารถช่วยในเรื่องของการเชื้อจุลินทรีย์ และยืดอายุการเก็บรักษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการด้านอาหารเป็นอย่างมาก โดย สทน.จะได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการต่อไป” ผู้อำนวยการ สทน.กล่าว
ด้าน รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มรภ.นครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่มหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญอยู่เสมอ คือ การลงพื้นที่แต่ละครั้ง ต้องมีของ นั่นคือ มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในเรื่องของอาหารพื้นถิ่น ที่ผ่านมา ทางมรภ.ได้ลงไปช่วยต่อยอดมาแล้วในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติ สุขอนามัย การขายการตลาด เพราะฉะนั้นการที่ สทน.เข้ามาช่วยเติมเต็มเรื่องเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ก็จะเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ และการที่ สทน.ให้มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยในการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้กับชุมชน ถือว่าเป็นการมาที่ถูกต้อง ถูกที่และถูกทาง”
รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี ม.เทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “วันนี้ หากให้มองแทนผู้ประกอบการ ผมมองเห็นประโยชน์เยอะมาก ไทยเรามีสินค้าชุมชนที่เป็นของดีมีมากมาย แต่เราขายให้กับคนไม่กี่สิบกี่ร้อยคน เพราะขายแค่ในพื้นที่ ในประเทศ แต่คนทั้งโลกมีหลายพันล้านคน การที่ สทน. เข้ามาร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ชุมชน มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าเรามีเครื่องมือที่ดี มีเทคโนโลยีที่ดีที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคยิ่งขึ้น สินค้าชุมชนก็จะขายได้มากขึ้น โลกทุกวันนี้ หากเราจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน เราต้องจับมือกัน เพราะเราทุกคนต่างมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน เหมือนเป็นจิ๊กซอร์ที่ช่วยให้คนทั่วโลกรู้จักสินค้าไทย รู้จักอาหารไทยมากขึ้น”