นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY
INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่
29.93 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน
ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.85-30.05 บาทต่อดอลลาร์
ในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินฟื้นตัวอย่างผันผวน ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปปรับตัวลง 0.19% หลังจากเยอรมันเพิ่มระยะเวลาการล็อกดาวน์ออกไปอีกสามสัปดาห์ แต่ในฝั่งสหรัฐดัชนี S&P 500 index กลับบวกขึ้นได้ 0.71% แม้ VIX Index ทรงตัวเหนือระดับ 25จุด ด้วยความหวังว่าจะทราบผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามลรัฐจอร์เจียในเร็ววันนี้ ถือเป็นการเพิ่มความชัดเจนทางด้านการเมืองอย่างหนึ่ง
ส่วนในฝั่งสินทรัพย์ปลอดภัยราคาทองก็ยังคงปรับตัวขึ้นต่อมาที่ระดับ 1951 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากที่ดอลลาร์อ่อนค่า 0.5% หนุนให้ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) ดีดกลับขึ้น 1.3% ถือเป็นการปรับตัวสูงขึ้นภายในวันเดียวที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2018 ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวสูงขึ้น 4bps มาที่ระดับ 0.95% สะท้อนภาพนักลงทุนบางส่วนที่เริ่มลดการถือสินทรัพย์ปลอดภัยลงบ้างในช่วงต้นปี
ฝั่งเงินบาทมีความเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าเมื่อธปท.ประกาศผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินบาท ภายใต้โครงการNon-resident Qualified Company หรือให้นิติบุคคลต่างประเทศทำธุรกรรมการเงินกับแบงก์ในประเทศโดยไม่จำกัดยอดคงค้างบัญชีเงินบาทจากเดิมไม่เกิน 200 ล้านบาท ทำให้นักเก็งกำไรขายเงินบาทในต่างประเทศออกมาเนื่องจากมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงกว่า เชื่อว่าประเด็นนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับทิศทางของเงินบาทในระยะยาว และมองเงินบาทแข็งค่าได้ถึง 29.3 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาสนี้
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรอบค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.80-29.95 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในรัฐจอร์เจีย(Georgia Senate Runoffs) 2 ที่นั่ง ซึ่งจะกำหนดว่าพรรครีพลับริกันหรือพรรคเดโมแครตจะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาและสภาคองเกรส และจะเป็นปัจจัย ส่งผลให้ตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลง หากผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกชี้ว่า พรรคเดโมแครตจะครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส
ตลาดการเงินโดยรวม กลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ต่างพากันปรับตัวขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบปิดบวกกว่า 5% ทำให้ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ WTI และราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นสู่ระดับ 49.8 และ 53.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ หลังจากที่ซาอุดิอาระเบียตัดสินใจลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อลดผลกระทบจากการเพิ่มกำลังการผลิตโดยรัสเซียและคาซัสถาน ราว 7.5หมื่นบาร์เรลต่อวันในประชุม OPEC+ ล่าสุด
การปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มพลังงานดังกล่าว ได้ช่วยให้ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น โดย ดัชนี S&P500 รีบาวด์ 0.7% ซึ่งก็ได้รับแรงหนุนเพิ่มจากการขยายตัวในอัตราเร่งของภาคการผลิตที่ดีกว่าคาด โดยสะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโดย ISM (Manufacturing PMI) ในเดือนธันวาคม ที่ปรับตัวขึ้นสู่ ระดับ 60.7จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ PMI ภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 57.5จุด ในขณะที่ ดัชนี STOXX50 ของฝั่งยุโรป กลับปรับตัวลดลง0.5% จากความกังวลสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้หลายประเทศประกาศใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดมากขึ้น
ในขณะที่ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดโดยรวม ได้ส่งผลให้ ยีลด์ของพันธบัตร 10ปี สหรัฐฯ เด้งขึ้น 3.8bps สู่ระดับ 0.95% และยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อได้อีก หากพรรคเดโมแครตสามารถพลิกกลับมาครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องออกพันธบัตรรัฐบาลในปริมาณมากเพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่
ในตลาดค่าเงิน ผู้เล่นต่างลดสถานะการถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักและอ่อนค่ากว่า 1% เมื่อเทียบกับ สกุลเงินที่ผันผวนตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง Australian Dollar (AUD)