ยกระดับงานไมซ์ด้วยมาตรฐานรองรับการเติบโตของนักเดินทางไมซ์ที่นับถือศาสนาอิสลาม

หนังสือ อีบุ๊ก‎

มุสลิมทุกคนต้องยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเป็นวิถีของการดำเนินชีวิต ซึ่งจะครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านที่เกี่ยวกับข้อบัญญัติทางศาสนาต่าง ๆ ที่จะต้องนำมาปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างเคร่งครัด ฮาลาลในอุตสาหกรรมไมซ์ก็มีข้อกำหนดกระบวนการจะต้องไม่ขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามเช่นกัน

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ (ทีเส็บ) เล็งเห็นถึงความสำคัญทางด้านศาสนาเป็นอย่างมาก จึงร่วมมือกับ สถาบันฮาลาล และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนิน “โครงการพัฒนาแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการได้เข้าใจแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและขยายฐานกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมไมซ์ให้แก่ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการด้านการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมทุกคนทั่วโลก อีกทั้งเพื่อพัฒนาคู่มือแนวปฎิบัติและยกระดับการให้บริการการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมให้ได้มาตรฐานในระดับสากล

คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดงานประชุมสัมมนาและงานนิทรรศการ ในประเทศไทย เล็งเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพและเตรียมความพร้อม ในการรองรับการเติบโตและเพิ่มขึ้นของนักเดินทางไมซ์ที่เป็นมุสลิม แนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมในครั้งนี้นับว่ามีความพิเศษ เพราะเป็นการทำงานเพื่อตอบสนองแนวปฏิบัติอันละเอียดอ่อนของชาวมุสลิม การร่วมกันพัฒนาแนวทางปฏิบัติในครั้งนี้จึงช่วยสะท้อนความใส่ใจกันและกันภายในสังคมพหุวัฒนธรรมของไทย นอกจากนี้ยังอาจสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวมุสลิมทั่วโลกอีก 1,900 ล้านคนได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งจากความร่วมมือดังกล่าว นอกจากคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม ยังนำไปสู่แผนพัฒนา 5 ปี อาทิ พัฒนาหลักสูตรการจัดการประชุมวิชาการและงานแสดงสินค้าที่เป็นมิตรกับมุสลิม ยกระดับการอบรมให้ผู้ประกอบการ ผู้จัดงานไมซ์ สถานที่จัดงาน เพื่อยกระดับงานไมซ์ด้วยมาตรฐานรองรับการเติบโตของนักเดินทางไมซ์ที่นับถือศาสนาอิสลาม คาดว่าหลังสูตรจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 และสามารถพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานไมซ์ที่เป็นมิตรกับมุสลิม กว่า 500 ท่าน นอกจากนี้ยังพัฒนายกระดับการจัดงาน World Halal Products Exhibition ร่วมกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจังหวัดสงขลา เพื่อยกระดับการจัดงานในระดับนานาชาติ เป็น Flagship Project สามารถต่อยอดการสร้างงาน สร้างรายได้ และเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาต่อไปอย่างยั่งยืน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความตั้งใจอย่างยิ่งในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของสถาบันฮาลาล ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและบริการวิชาการด้านฮาลาลของมหาวิทยาลัย เมื่อกล่าวถึง “อุตสาหกรรมฮาลาล” ในปัจจุบันที่ไม่เพียงแต่เป็นอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมบริการ และการท่องเที่ยว เช่น อาหาร ที่พักโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ตลอดจนอุตสาหกรรมไมซ์ยังครอบคลุมสถานที่จัดงานและผู้ให้บริการการจัดงาน ซึ่งต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในด้านฮาลาล

ในส่วนของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการ สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวไว้ว่า สถาบันฮาลาลตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจไมซ์ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศเพื่อให้ธุรกิจไมซ์ของประเทศไทยสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ จึงร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนาแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการธุรกิจไมซ์ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติของชาวมุสลิม ซึ่งสามารถดึงดูด นักท่องเที่ยวไมซ์ชาวมุสลิมจากทั่วโลกให้มาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และเป็นการยกระดับมาตรฐาน การจัดการประชุมและนิทรรศการด้านฮาลาลของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวว่า คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้ความสำคัญในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรต้นน้ำในอุตสาหกรรมไมซ์ ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านฮาลาลมาประยุกต์มาใช้การจัดงานจริง อาทิ การนำความรู้ทางด้านหลักการทางศาสนาอิสลามมาประยุกต์ใช้ในการจัดงานประชุมและงานนิทรรศการ และการนำความรู้ ความเข้าใจทางหลักศาสนาอิสลามมาประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วมกันกับพี่น้องชาวมุสลิม เป็นต้น โดยจะมีสาขาวิชาเอกการจัดการไมซ์ ภายใต้คณะวิทยาการจัดการ เป็นแหล่งผลิตและบ่มเพาะบุคลากรที่จะมีองค์ความรู้ทางด้านการจัดงานไมซ์ที่เป็นมิตรต่อมุสลิมที่มีประสิทธิภาพออกสู่ตลาดแรงงานอุตสาหกรรมไมซ์ระดับสากล

คุณอรุณ บุญชม ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และรองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้าพเจ้าขอแสดงความชื่นชมสถาบันฮาลาล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ในการริเริ่มจัดทำแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม อันจะเป็นคู่มือที่สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้จัดการประชุมในการ นำองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้จัดการประชุมสัมมนาและงานนิทรรศการได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งผู้จัดและผู้เข้าร่วมงานที่นับถือศาสนาอิสลาม ตลอดจนผู้เข้าร่วมงานทั่วไป ที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งอาหารฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม การจัดให้มีสถานที่ เพื่อปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมใน บริเวณงาน และนอกจากจะสร้างความมั่นใจและความสบายใจแก่มุสลิมแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความมีไมตรีจิตและความมีน้ำใจที่งดงามของผู้จัดอีกด้วย

สำหรับ พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณสถาบันฮาลาล และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สำหรับการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการประชุมสัมมนาและงานนิทรรศการที่คำนึงถึงวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิม เช่น การจัดอาหารฮาลาล สถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมในบริเวณงาน และห้องน้ำที่มีสายฉีดชำระ เป็นต้น อันเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานชาวมุสลิมและแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดของผู้จัด

โครงการแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมประกอบไปด้วยการจัดตั้งคณะรับรองและคณะทำงานพัฒนาหลักสูตรการจัดประชุมและนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม และการจัดอบรมให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม โดยมีประโยชน์ที่คาดหวังว่าจะได้รับคือ ความรู้และความเข้าใจต่อคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม เป็นการยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทย ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศมุสลิม (Non-Muslim Country) อันเป็นการสร้างโอกาสในการรองรับการขยายตัวของนักเดินทางธุรกิจมุสลิมทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และสามารถเพิ่มแรงดึงดูดใจให้แก่งานและเป็นการสร้างความมั่นใจในการเข้าร่วมการจัดประชุมและงานนิทรรศการจากนักเดินทางธุรกิจมุสลิมทั่วโลก

สำหรับผู้สนใจ ติดต่อสอบถามข้อมูลคู่มือหรือหลักสูตรได้ที่ นายศตายุ ร่มเย็น โทร 083-259-6545

  • ผู้โพสต์ :
    niratcha
  • อัพเดทเมื่อ :
    11 ส.ค. 2021 13:26:24

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา