TCEB ร่วมกับ สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดงานประชาสัมพันธ์ ‘โครงการพัฒนาแนวปฏิบัติจัดการประชุมและงานแสดงสินค้าที่เป็นมิตรกับมุสลิม’ เพิ่มศักยภาพรองรับการเติบโตของนักเดินทางไมซ์ที่เป็นมุสลิม

ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (TCEB) ร่วมกับ สถาบันฮาลาล และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดงานประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ “โครงการพัฒนาแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม” เพื่อพัฒนาคู่มือและยกระดับการให้บริการปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมให้ได้มาตรฐานในระดับสากล

โครงการพัฒนาแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการได้เข้าใจแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและขยายฐานกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมไมซ์ให้แก่ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการด้านการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมทุกคนทั่วโลก อีกทั้งเพื่อพัฒนาคู่มือแนวปฎิบัติและยกระดับการให้บริการการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมให้ได้มาตรฐานในระดับสากล

คุณอรุณ บุญชม รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวถึงงานในครั้งนี้ว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ คู่มือนี้จะเป็นที่สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้จัดการประชุมในการนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้จัดการประชุมสัมมนาและงานนิทรรศการได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งผู้จัดและผู้เข้าร่วมงานที่นับถือศาสนาอิสลาม ตลอดจนผู้เข้าร่วมงานทั่วไปที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งอาหารฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม การจัดให้มีสถานที่เพื่อปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมในบริเวณงาน เป็นต้น

ศาสนาอิสลามอาจมีความละเอียดอ่อนในหลักการและข้อปฏิบัติต่าง ๆ แต่ก็มิได้ห้ามหรือขวัดขวาง หรือต้องให้ผู้นับถือปลีกวิเวกจากสังคมหรือการร่วมสมาคมกับต่างศาสนิกแต่ประการใด ในทางตรงกันข้าม ข้อบัญญัติในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระบุไว้ชัดเจนว่า “ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในเรื่องที่เป็นคุณงามความดีและไม่ผิดหลักการศาสนา” และศาสดามูฮัมหมัดมีวจนะไว้ว่า “คนที่ดีที่สุดคือ คนที่สร้างประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์มากที่สุด” ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศจุดหมายปลายทางของนักเดินทางทั้งนักเดินทาง นักธุรกิจ และนักลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งในบรรดาบุคคลเหล่านั้นก็มีผู้นับถือศาสนาอิสลามรวมอยู่ด้วย ดังนั้นคู่มือเล่มนี้จะยังคงคุณค่าและนำประโยชน์มาสู่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

พลตำรวจตรีสุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานครั้งนี้ สำหรับการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการประชุมสัมมนาและงานนิทรรศการที่คำนึงถึงวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิม สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีบทบาทในการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล เนื่องจากฮาลาลเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิม อีกทั้งควบคุมปัจจัยในการดำเนินชีวิตทุกด้าน ทั้งด้านอุปโภคบริโภค การบริการจัดการ การเดินทางท่องเที่ยว และการรับส่งสินค้าตลอดจนการให้บริการด้านสุขภาพ เป็นต้น สำหรับด้านการท่องเที่ยว คู่มือนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยผ่านการจัดการที่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามและวิถีชีวิตของชาวมุสลิม เพื่อการขับเคลื่อนการจัดประชุมและนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมให้เกิดเป็นรูปธรรมที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการจัดงานนี้ ทั้งนี้อุตสาหกรรมไมซ์นับเป็นหนึ่ง ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย และการขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ เพราะภาคใต้นับเป็นพื้นที่ที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามสูงที่สุดในประเทศไทย ประกอบกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของนักเดินทางไมซ์ที่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เกิดการต่อยอด และเพิ่มมูลค่าธุรกิจให้เกิดการจัดงานไมซ์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักเดินทางธุรกิจมุสลิม และด้วย ม.อ. ยังมีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกิจการฮาลาล นั่นคือ “สถาบันฮาลาล” และมีหลักสูตรการเรียนการสอนทางด้านการจัดการไมซ์ใน “คณะวิทยาการจัดการ” จึงได้มีความร่วมมือกับ ทีเส็บ ในการจัดทำแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม เพื่อร่วมยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรกับมุสลิมมากยิ่งขึ้น อันจะก่อให้เกิดการขยายการจัดงานไมซ์ด้านฮาลาลที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

สำหรับ คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่วว่า Business Event ฮาลาลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ถือเป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งจำเป็นที่อุตสาหกรรมไมซ์ต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับนักเดินทางไมซ์ชาวมุสลิม เพื่อรองรับความต้องการตลาดนักเดินทางไมซ์ชาวมุสลิมซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ของโลก หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้คลี่คลายลงไป ซึ่งจากการคาดการณ์ในปี 2573 จะมีประชากรมุสลิมทั่วโลก มากถึง 2.2 พันล้านคน โดยการเพิ่มขึ้นของประชากรมุสลิมจะส่งผลให้มูลค่าตลาดสินค้าฮาลาลเพิ่มขึ้นเป็น 7.76 แสนล้านบาท (จากการคาดการณ์ของ Pew Research Center) จึงทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ต่อไปหลังจากนี้ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงต่อความต้องการของนักเดินทางไมซ์ชาวมุสลิมต่อไปในอนาคต ดังนั้นแนวปฏิบัติฯและการอบรมในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือในการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ทางด้านฮาลาลสู่การสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในการประชุมและงานนิทรรศการจากนักเดินทางไมซ์ชาวมุสลิม ตลอดจนการพัฒนามาตรฐานการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลาง การจัดงานไมซ์ทางด้านฮาลาลระดับโลกต่อไปในอนาคต

ในส่วนของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการจัดงานนี้ว่า ในนามสถาบันฮาลาล รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติ การจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการธุรกิจไมซ์ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติของชาวมุสลิม ซึ่งสามารถดึงดูดนักเดินทางไมซ์ชาวมุสลิมจากทั่วโลกให้มาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และเป็นการยกระดับมาตรฐานการจัดการประชุมและนิทรรศการด้านฮาลาลของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ สถาบันฮาลาล ตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจไมซ์ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ เพื่อให้ธุรกิจไมซ์ของประเทศไทยสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่

และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวว่า การจัดทำแนวปฏิบัติการจัดประชุมและนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาความรู้และทักษะ ของนักศึกษา สาขาวิชาเอกการจัดการไมซ์ คณะวิทยาการจัดการ โดยเฉพาะทางด้านการจัดการไมซ์ โดยคณาจารย์จะมีการบูรณาการการเรียนการสอนผ่านการจัดงานไมซ์ประเภทต่าง ๆ ร่วมกับศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งถือเป็นศูนย์ประชุมที่มีที่ตั้งอยู่ภายใมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ดังนั้นผู้เรียนที่นี่จะได้มีโอกาสทำงานจริงและสร้างประสบการณ์ในการเป็นผู้จัดงานแบบมืออาชีพจากผู้เชี่ยวชาญตลอดระยะเวลา 4 ปี นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็น MICE Bureau ระดับจังหวัดที่เดียวในประเทศไทย โดยได้มีการบูรณาการการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียน มีความเข้าใจและทักษะในด้านการบริหารจัดการจุดหมายปลายทางไมซ์เพื่อให้เป็นเมืองยอดนิยมในระดับนานาชาติ

โครงการแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมประกอบไปด้วยการจัดตั้งคณะรับรองและคณะทำงานพัฒนาหลักสูตรการจัดประชุมและนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม การจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม และการจัดอบรมให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม โดยมีประโยชน์ที่คาดหวังว่าจะได้รับคือ ความรู้และความเข้าใจต่อคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิมที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม เป็นการยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทย ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศมุสลิม (Non-Muslim Country) อันเป็นการสร้างโอกาสในการรองรับการขยายตัวของนักเดินทางธุรกิจมุสลิมทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และสามารถเพิ่มแรงดึงดูดใจให้แก่งานและเป็นการสร้างความมั่นใจในการเข้าร่วมการจัดประชุมและงานนิทรรศการจากนักเดินทางธุรกิจมุสลิมทั่วโลก

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวทิ้งท้ายว่า ทีเส็บ “จากความร่วมมือดังกล่าว นอกจากคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรกับมุสลิม ยังนำไปสู่แผนพัฒนา 5 ปี อาทิ พัฒนาหลักสูตรการจัดการประชุมวิชาการและงานแสดงสินค้าที่เป็นมิตรกับมุสลิม ยกระดับการอบรมให้ผู้ประกอบการ ผู้จัดงานไมซ์ สถานที่จัดงาน เพื่อยกระดับงานไมซ์ด้วยมาตรฐานรองรับการเติบโตของนักเดินทางไมซ์ที่นับถือศาสนาอิสลาม คาดว่าหลักสูตรจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 และสามารถพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานไมซ์ที่เป็นมิตรกับมุสลิม กว่า 500 ท่าน นอกจากนี้ยังพัฒนายกระดับการจัดงาน World Halal Products Exhibition ร่วมกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจังหวัดสงขลา เพื่อยกระดับการจัดงานในระดับนานาชาติ เป็น Flagship Project สามารถต่อยอดการสร้างงาน สร้างรายได้ และเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาต่อไปอย่างยั่งยืน

สำหรับผู้สนใจ ติดต่อสอบถามข้อมูลคู่มือหรือหลักสูตรได้ที่ นายศตายุ ร่มเย็น โทร 083-259-6545

  • ผู้โพสต์ :
    niratcha
  • อัพเดทเมื่อ :
    13 ส.ค. 2021 16:48:57

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา