วีรศักดิ์มอบหมาย ITD เป็น Think tank ให้พาณิชย์ เปิดผลการวิจัยยุค New Normal เร่งกำหนดเป้าเศรษฐกิจดิจิทัลให้ชัด การค้าเกาะจีน เจาะเอเชียใต้ เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน

ข่าวประชาสัมพันธ์

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาจัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย “ITD Research Forum 2020” ในรูปแบบการสัมมนาออนไลน์ ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมรับฟังกว่า 500 คน เสนอผลงานวิจัย 4 เรื่องเพื่อตอบโจทย์ทิศทางการค้าและการพัฒนาของไทยในโลกยุค New Normal

นายวีรศักดิ์ศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ในภาวะวิกฤตโควิค -19 การค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ มีบทบาทมากขึ้นในโลกการค้า ธุรกิจไทยต้องสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่ยุค New Normal ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้มอบหมายให้ ITD ทำหน้าที่เป็น Think tank ให้กับกระทรวงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมองเห็นและคว้าโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ของโลก ได้ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี หากมีสถานการณ์ใดที่จะส่งผลกระทบด้านลบต่อการค้าและการลงทุนไทย ITD ต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบ ก่อนสถานการณ์เกิดขึ้น เพราะ ITD เป็นสถาบันวิชาการที่มีความพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการวิเคราะห์ข้อมูล และมีเครือข่ายทางวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้มแข็งสามารถปฏิบัติงานได้ทันท่วงที ต้องทำให้ประเทศไทยและคนไทยเป็นผู้ชนะในเวทีการแข่งขันโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกนาที

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการผู้อำนวยการ สคพ. กล่าวว่า การจัดสัมมนา ITD Research Forum 2020 ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยจากนักวิจัยซึ่งเป็นเครือข่ายวิชาการในประเทศของ ITD ซึ่งมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ การมุ่งขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การเร่งส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศโดยให้ความสำคัญกับตลาดจีนซึ่งยังเป็นตลาดใหญที่สำคัญของไทย แต่ต้องจับตานโยบายความเชื่อมโยงของจีนผ่านนโยบายความร่วมมือข้อริเริ่ม BRI (Belt and Road Initiative) เพื่อเกาะเกี่ยวผลประโยชน์ร่วมกับจีน ขณะเดียวกันต้องเร่งบุกเอเชียใต้ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคมาก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงโดยเร่งพัฒนากรอบความร่วมมือ BIMSTEC รวมทั้งต้องเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการให้ครบจงจร ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ผลการวิจัยของ ITD ชี้ว่า การก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลหรือการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น แผนการปฏิรูประเทศเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจำเป็นต้องมีการพัฒนาไปสู่แผนปฏิบัติการที่ชัดเจนทั้งรายละเอียด กรอบเวลา ระบบการติดตามตรวจสอบ และดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน การประสานงานระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดเอกภาพ เร่งพัฒนากำลังคนเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่และแสวงหาประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล เร่งแก้ปัญหาความทับซ้อนและการขาดความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ กำหนดระบบติดตามและประเมินนโยบายที่เกี่ยวข้องในแต่ละโครงการ กำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการรองรับผลกระทบทางสังคมของการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย โดยเฉพาะผลต่อการจ้างงานและการปิดตัวของธุรกิจ นอกจากนั้น ควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มจับตาเศรษฐกิจดิจิทัลโดยสถาบันอิสระ เพื่อติดตามและประเมินความพร้อมของไทยระหว่างการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลจำเป็นต้องติดตามและปรับปรุงให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภาครัฐจำเป็นต้องมีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายกำกับการแข่งขันที่เป็นธรรม ข้อกำหนดเกี่ยวกับ Data Localization Requirement และภาษีต่อการบริการดิจิทัล เร่งผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานของกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ แสวงหาประโยชน์ร่วมกันของการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ในขณะเดียวกันก็สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิผล

ผลการวิจัยโครงการโอกาสการค้าและการลงทุนไทยจากนโยบาย Belt and Road Initiative : BRI ของจีน พบว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ควรปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกไปจีนอย่างจริงจัง โดยเน้นการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการอุปโภคบริโภคป้อนสู่ผู้บริโภคชาวจีนให้มากขึ้น เช่น อัญมณี เครื่องประดับตกแต่งบ้าน ฯลฯ ซึ่งในขณะนี้ ชนชั้นกลางจีนได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และมีผู้บริโภคจีนที่นิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดในโลก ซึ่งกว่า 650 ล้านคนที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับไทยในการหันมาปรับโครงสร้างการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปจีนอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ความซับซ้อนของตลาดจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น ดังนั้น การส่งออกสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการอุปโภคบริโภคไปป้อนตลาดจีนไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องทำการบ้านให้หนัก มีการเตรียมความพร้อมอย่างจริงจังโดยการศึกษาข้อมูลเชิงลึกและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องมีความตื่นตัวคอยติดตามวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วโดยเฉพาะการติดตามสื่อสังคมออนไลน์ในจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าใจทิศทางและแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนผ่านอิทธิพลของสื่อสังคมในจีน เพื่อศึกษาแนวโน้มของการบริโภคและแนวโน้มของผลิตภัณฑ์คู่แข่งที่กำลังอยู่ในกระแส อีกทั้งจำเป็นต้องมีพันธมิตรหรือคู่ค้าในจีนที่เชื่อถือได้และมีกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเจาะผู้บริโภคจีนในระดับเมือง/มณฑล รวมถึงการเลือกช่องทางการค้าที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกไปจีน เช่นการค้าผ่านระบบออนไลน์หรือการค้าผ่านโมเดิร์นเทรดในจีน ขณะที่ในด้านการลงทุน ควรปรับโครงสร้างการลงทุนในการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ และควรมีเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่รัดกุมในการส่งเสริมการลงทุนจากจีน เช่น ต้องเป็นโครงการลงทุนที่จะเอื้อประโยชน์ตอบแทนให้กับเศรษฐกิจชุมชน/ท้องถิ่นของไทย ต้องช่วยสร้างงานและสร้างความเข้มแข็งให้คนไทยในด้านต่าง ๆ เช่น ความรู้วิชาชีพ เทคโนโลยี ต้องเป็นการลงทุนที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้วัตถุดิบภายในประเทศของไทย โดยเฉพาะด้านการเกษตร และช่วยแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำในบางกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น จัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ภายในประเทศโดยใช้น้ำยางดิบจากเกษตรกรชาวไทย เป็นต้น

ผลการวิจัยโครงการพัฒนานโยบายเพื่อการขยายผลการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาจากกรอบเขตการค้าเสรีบิมสเตคของประเทศไทยพบว่าภูมิภาคอ่าวเบงกอล ถือเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากความใกล้ชิดในฐานะเพื่อนบ้านแล้ว ภูมิภาคอ่าวเบงกอลยังเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP รวมกันสูงกว่า 3.620 ล้านล้านดอลลาร์ ณ ปี 2561 เมื่อพิจารณาขนาดของเศรษฐกิจที่มีการปรับระดับมาตรฐานค่าครองชีพแล้ว อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ด้วยมูลค่า 10.498 ล้านล้านดอลลาร์ รองจากอันดับ 1 คือจีนและอันดับ 2 สหรัฐอเมริกา

ประเทศไทยควรวางนโยบายการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกบิมสเทคโดยยกระดับให้กรอบบิมสเทคเป็นความร่วมมือระดับภูมิภาค สร้างความตระหนัก ความสนใจ และการให้ความสำคัญของประชาชน ไทยควรมองอินเดียและบิมสเทคเป็นพื้นที่ย่อยเพราะประเทศในภูมิภาครอบอ่าวเบงกอลนั้นมีความสลับซับซ้อนเชิงวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ และการเมืองการปกครอง แต่ละประเทศมีเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีความแตกต่างกันออกไป จึงควรศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจให้กระจ่างถึงความแตกต่างของแต่ละประเทศ

ในส่วนของการเจรจากรอบความตกลงบิมสเทคหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรผลักดันการใช้กระบวนการแบบ Early Harvest กล่าวคือ สำหรับประเทศสมาชิกใดมีความพร้อมในการบังคับใช้ข้อตกลงใดก็ให้ข้อตกลงนั้น ๆ มีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกนั้น ๆ ก่อนโดยไม่ต้องรอให้ทุกประเทศให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้พร้อมกันทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจใน 2 มิติ 1) แรงขับเคลื่อนจากภายนอก คือ ประเทศที่ลงนามและมีผลบังคับใช้แล้วได้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีจะเป็นแรงจูงใจให้ประเทศที่ยังไม่ลงนามเห็นโอกาสและประโยชน์ที่จะได้รับ 2) แรงขับเคลื่อนจากภายใน โดยผู้ประกอบการและผู้บริโภคของแต่ละประเทศที่ยังไม่ลงนามและ/หรือยังไม่มีผลบังคับใช้ร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลลงนามให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้เพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคจะได้รับสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว

โดย ITD ควรจัดอบรมเรื่องการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ผู้ประกอบการชาวไทยมองเห็นโอกาสทางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอ่าวเบงกอลศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศบิมสเทค จัดทริปสำรวจตลาดโดยลงพื้นที่จริงพร้อมนักวิชาการเพื่อให้เห็นโอกาสแบบจับต้องได้ เช่น การพานักธุรกิจและนักลงทุนไปท่องเที่ยวสัมผัสสถานที่และสภาพแวดล้อม การคมนาคม สังคม วัฒนธรรม ภาษา และนิสัยใจคอรวมทั้งการสนทนาปราศรัยของชาวพื้นเมือง โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านคอยให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง เพื่อให้ทราบถึงธรรมเนียม วิถีปฏิบัติ โอกาสและข้อท้าทายต่าง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจมาลงทุนในประเทศบิมสเทค

ผลการวิจัย โครงการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อรองรับโอกาสและผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ พบว่า ควรเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน โดยยกระดับความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในจังหวัด เร่งพัฒนาแผนงานและโครงการในจังหวัดให้ตอบโจทย์ความต้องการเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ มุ่งใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน กรณีจังหวัดกาญจนบุรีเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเมียนมา โดยจัดทำโครงการธุรกิจส่งเสริมเกษตรปลอดภัย เน้นนำเสนอสินค้าเกษตรคุณภาพดี และมุ่งสู่การขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical ) ธุรกิจศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ ธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าทางราง ธุรกิจตลาดกลางกาญจนบุรีซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมสินค้า ส่วนจังหวัดตราดใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงกับเกาะกง กัมพูชา ดำเนินโครงการสินค้าเกษตรตราจังหวัดตราด มุ่งเน้นให้เป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน GAP รับประกันความปลอดภัย ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพพรีเมี่ยมสำหรับผู้สูงอายุธุรกิจโกดังกระจายสินค้า รวมทั้งมีห้องเย็นและห้องแช่แข็งธุรกิจโรงเรียนฝึกอบรมบุคลากร

เบอร์โทร : 0898895156
LINE : ann1rgvv
เว็บไซต์ : okmassthai.com
  • ผู้โพสต์ :
    onuma
  • อัพเดทเมื่อ :
    28 พ.ค. 2020 10:40:35

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา