เมื่อวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2563 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่ ณ จังหวัดนครพนมและจังหวัดบึงกาฬ ศึกษาแหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา และซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนแหล่งแรกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 เส้นทาง “ตามรอยตีนไดโนเสาร์ที่นครพนม ชมหินเกล็ดพญานาคถ้ำนาคา ล่องนาวาน้ำตก ถ้ำพระที่ภูวัว แหวกดูหินสามวาฬชมปรากฏการณ์ทะเลทรายที่อดีตภูทอก”
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญด้านหนึ่งของ
กรมทรัพยากรธรณี คือ การสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟูและการบริหารจัดการด้านธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ เพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรธรณี คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความตระหนักและความเข้าใจงานด้านธรณีวิทยาของไทย เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ประชาชน
ตามรอยตีนไดโนเสาร์ที่นครพนม แหล่งเรียนรู้รอยตีนไดโนเสาร์ท่าอุเทน ตำบลพนอม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นอาคารพร้อมทางเดินสำรวจโดยรอบลานหินไดโนเสาร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก
กรมทรัพยากรธรณี ตั้งแต่ปี 2554 ประกาศให้เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา มีการขุดค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์มากมายกว่า 1,000 รอย โดยรอยตีน
ที่พบที่นี่ ได้แก่ รอยตีนของไดโนเสาร์ซอโรพอด ไดโนเสาร์กินพืช มีคอยาว เดิน 4 ขา, รอยตีนของไดโนเสาร์
อิกัวโนดอน เดินได้ทั้ง 2 ขา และ 4 ขา นิ้วหัวแม่มือมีลักษณะเป็นเดือยแหลมใช้สำหรับป้องกันตัว, รอยตีนของไดโนเสาร์ออร์นิโธมิโมซอร์ หรือไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ วิ่งเร็ว มักอยู่ด้วยกันเป็นฝูง รอยตีนที่พบเป็น 3 นิ้วชัดเจน คล้ายรอยตีนไก่ ปลายนิ้วมีรอยเล็บแหลมคมและรอยตีนจระเข้จะมีขนาดรอยตีนเล็กกว่าไดโนเสาร์ โดยเชื่อว่ามีอายุนานกว่า 100 ล้านปี ในยุคของครีเทเชียส คาดว่าจะเป็นแอ่งทะเลสาบน้ำจืดในยุคดึกดำบรรพ์ ที่มีความอุดมสมบูรณ์
ชมหินเกล็ดพญานาคถ้านาคา ถ้ำนาคาเป็นถ้ำที่เพิ่งค้นพบใหม่ อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
ภูลังกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ จากพื้นผิวของหินแล้วเหมือนกับเกล็ดงูขนาดใหญ่หรือพญานาคนอนขดตัวอยู่ ในทางธรณีวิทยาเรียกปรากฏการณ์ที่ทำให้หินเกิดสภาพเช่นนี้ว่า “ซันแครก” (Suncrack) หรือหมอนหินซ้อน ซึ่งเกิดจากการแตกผิวหน้าของหิน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับไปมา จนแตกเป็นรูปหลายเหลี่ยม ต่อมามีการผุพังและกัดเซาะ โดยน้ำและอากาศในแนวดิ่ง ทำให้เกิดซันแครก และเห็นเป็นลักษณะเหมือนหมอนที่วางซ้อนกันเป็นชั้น ขนานไปกับแนวชั้นหิน
ล่องนาวาน้ำตกถ้ำพระที่ภูวัว น้ำตกถ้ำพระ หรือน้ำตกถ้ำพระภูวัว ตั้งอยู่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว บ้านถ้ำพระ ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ 3 ชั้น ที่ไหลอยู่บนภูเขาหินทรายขนาดใหญ่ เป็นน้ำตกกลางป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ ที่มาของชื่อน้ำตกถ้ำพระเป็นเพราะว่าในสมัยก่อน บริเวณที่ตั้งของน้ำตกถ้ำพระแห่งนี้นั้นเป็นวัดป่ามีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่
แหวกดูตัวหินสามวาฬ หินสามวาฬ (Tree Rock Whale) เป็นหินทรายที่ตั้งอยู่บนเนื้อที่ของ
ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์และป่าดงสีชมพู มีพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ มีลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่ติดหน้าผาสูง แยกเป็น 3 ก้อน มองไกลหรือมองจากภาพถ่ายทางอากาศมีรูปร่างคล้ายปลาวาฬ พ่อ แม่ ลูก กำลังว่ายน้ำกันอย่างสนุกสนาน จึงเรียกกันว่า “หินสามวาฬ” เป็นจุดชมวิวที่สวยงามโดดเด่น อยู่ด้านตะวันออกภูสิงห์ เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า สามารถยืนชมทัศนียภาพของป่าภูวัว ห้วยบังบาตร แก่งสะดอก หาดทรายแม่น้ำโขงและภูเขาเมืองปากกระดิ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ชมปรากฎการณ์ทะเลทรายในอดีตที่ภูทอก ภูทอกเป็นภูเขาหินทราย ที่มีวัดเจติยาคีรีวิหาร
(วัดภูทอก) ตั้งอยู่เชิงเขา และมีสะพานไม้สร้างวนเวียนขึ้นไปสู่ยอดเขารวม 7 ชั้น เพื่อเป็นทางเดินขึ้นไปยังกุฏิและ
ถ้ำที่อยู่ตามหลืบผา มองเห็นความสวยงามของภูมิประเทศเบื้องล่างได้ไกลสุดลูกหูลูกตา ถ้าในวันที่อากาศแจ่มใสอาจมองได้ไกลถึงเทือกเขาในเขตจังหวัดนครพนม
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า “นับเป็นโอกาสดีของประเทศไทย
ที่มีการเชื่อมโยงมรดกทางธรรมชาติสู่วิถีชุมชนผ่านงานด้านธรณีศึกษา ซึ่งจังหวัดนครพนมและบึงกาฬ
ล้วนมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นองค์ความรู้ทางด้านธรณีวิทยาอยู่มากซึ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ และเศรษฐกิจของชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากคุณค่าของทรัพยากรเหล่านั้น จากการท่องเที่ยว การผลิตสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น มีความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันนำไปสู่การพัฒนาตามแนวทางศาสตร์พระราชาได้อย่างยั่งยืน