รับสมัครเอสเอ็มอีจับมือคู่ค้าต่างประเทศ เตรียมพร้อมรับธุรกิจกลับสู่ปกติสิ้นปีนี้
(กรุงเทพฯ) – สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM bank) ดันผู้ประกอบการเจรจาจับมือกับคู่ค้าในต่างประเทศ เตรียมพร้อมธุรกิจกลับสู่ปกติช่วงปลายปีนี้
แม้ในช่วงนี้ ประเทศต่างๆทั่วโลกจะยังคงเผชิญปัญหาของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด แต่การทยอยฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศทั่วโลก ทำให้หลายประเทศ สามารถทยอยเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าหลังจากหยุดชะงักกันมานานนับปี ในการนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีขนาดธุรกิจไม่เกิน 300 ล้านบาท (ภาคการค้าและบริการ) และไม่เกิน500 ล้านบาท (ภาคการผลิต) ได้เปิดตลาดเข้าถึงประเทศต่างๆที่มีศักยภาพในการสั่งซื้อสินค้าจากไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ และสินค้าในกลุ่มแฟชั่นและความงาม
อินเดียเป็นตลาดส่งออกสำคัญ หนึ่งใน 10 อันดับแรกของไทย และถูกมองว่าจะเป็นตลาดส่งออกใหม่ของไทยที่จะมาแทนจีน โอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดอินเดียยังมีอยู่อีกมากเพราะยังเป็นตลาดที่ผู้ส่งออกไม่คุ้นเคยจึงมีโอกาสที่จะเจาะตลาดได้อีกมาก ทั้งนี้ อินเดียยังเป็นประตูในการส่งออกสินค้าจากไทยไปสู่ประเทศข้างเคียง เช่น ศรีลังกา มัลดีฟส์ และคนอินเดียเองก็มีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทย สินค้าไทยจึงถูกจัดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพคุณภาพสูง และสามารถซื้อได้
และแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศอินเดียจะมีจำนวนมาก แต่จริงแล้วกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคในอินเดียมีขนาดใหญ่มาก ประกอบกับรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด มีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเกินกว่าครึ่งหนึ่งจากช่วงที่มีการแพร่ระบาดสูงสุด เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา พร้อมทั้งรัฐบาลเองได้เร่งฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว ดังนั้นแม้ว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะตกต่ำในปีที่ผ่านมา (2563) องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวมากถึงร้อยละ 9.9 และจะกลายเป็นเศรษฐกิจ G20 ที่เติบโตเร็วที่สุด ในปี 2564 นี้
เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดสรรงบประมาณให้สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เป็นหน่วยร่วมดำเนินการ จัดการจับคู่ธุรกิจในแบบออนไลน์ ที่ได้พบกับคู่ค้าแบบตัวต่อตัวมากกว่า 3 รายและได้พบคู่ค้าผ่านช่องทางออนไลน์จากทั่วโลกอีกไม่ต่ำกว่า 3 ราย เป็นการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยได้เปิดตลาดต่างประเทศในแบบพร้อมรับมือกับการที่ธุรกิจกลับมา (resume) ในช่วงปลายปี โดยมีกิจกรรม Online Business Matching 2021 ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและช่องทางการตลาดเชิงลึก ปีงบประมาณ 2564 ที่เป็นกิจกรรมจับคู่ธุรกิจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเลือกเข้าร่วม ดังนี้
1.Thailand-PHILIPPINES Online Business Matching 2021
โอกาสส่งออกกลุ่มสินค้าแฟชั่นและความงาม
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครhttps://bit.ly/3cLvx54
2.Thailand-INDIA Online Business Matching 2021
โอกาสส่งออกกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ ของขวัญ ของใช้และของตกแต่งบ้าน
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครhttps://bit.ly/35r3FiE
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ที่จะรับทราบข้อมูลความต้องการจากตัวแทนผู้ซื้อในต่างประเทศ รับทราบวิธีการและขั้นตอนปฏิบัติในการเจรจาการค้าให้ได้ยอดขายจริง และยังได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM bank) ที่มอบสิทธิพิเศษ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ด้วยบริการให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการตลาดและการเงิน และการได้รับพิจารณาอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วน (* ทั้งนี้ เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด)
ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) คาดหวังที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถสร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท ในห้วง 1 ปีข้างหน้า จากการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้
-------------------------------------------
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: คุณเกด ณิชาภา เลไธสง โทร 092 223 4142 (สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) หรือ คุณหนึ่ง ณรัน เรืองศิริ โทร 080 415 3566
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) | สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ 2 คณะ ประกอบด้วย
คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมพร้อมทั้งกำกับการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนและผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีอำนาจหน้าที่วางนโยบาย บริหารงาน ควบคุม กำกับดูแลและรับผิดชอบในกิจการของ สสว. โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน กรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นกรรมการและเลขานุการ
สสว. เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 โดยได้รับความอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่บางส่วนบริเวณ ชั้น 2 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ต่อมา สสว. ย้ายสถานที่ทำการมาอยู่ ณ อาคารทีเอสที
ทาวเวอร์ ถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2544 จนถึงปัจจุบัน
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) | สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED เป็นสถาบันในเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2542 ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งที่ 153/2542 ลงวันที่ 23 เมษายน 2542 ให้จัดตั้งสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อถ่ายโอนภารกิจ “การพัฒนา” จากภาครัฐ มาดำเนินงานด้วยความคล่องตัว ยืดหยุ่น และทันสมัย ในรูปขององค์กรสาธารณประโยชน์ โดยพ.ศ.2542 – 2546 สถาบันฯได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อการจัดตั้งสถาบันฯและดำเนินภารกิจในระยะเริ่มต้น ต่อมาทางสถาบันฯต้องหารายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจ หน่วยงานราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น
สถาบันฯมีภารกิจหลักในการบูรณาการความร่วมมือกับบุคคล หน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการตามแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ทั้งด้านการตลาด การผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยประยุกต์ใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริม สนับสนุนและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการนำพาธุรกิจเข้าสู่โมเดิร์นเทรดและเปิดประตูการค้าสู่ตลาดต่างประเทศ ภารกิจหลัก 4 ประการ ประกอบด้วย
1.การถ่ายทอดองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การฝึกอบรม การเรียนทางไกล การศึกษาด้วยตนเองจากสื่อและอื่นๆ แก่ผู้ประกอบการ SME และบุคลากรที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SME
2.การให้บริการคำปรึกษา แนะนำการปรับปรุงกิจการ การตลาด การลงทุน การร่วมลงทุน การเชื่อมโยงธุรกิจ ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือสนับสนุน ผู้ประกอบการ SME
3.การศึกษาวิจัยทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ SME รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการได้เข้าถึงข้อมูลที่ทันสมัยเชื่อถือได้ สามารถนำไปปรับใช้ ตลอดจนการจัดทำดัชนี ชี้วัดความสามารถในการประกอบการ
4.การรับรองมาตรฐานวิชาชีพของบุคลากรที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SME หรือเป็นผู้ประเมินสถานประกอบการ