กรมโยธาธิการและผังเมืองขอชี้แจงข่าว “มีการปลดล็อคผังเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน จนทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน”

ข่าวประชาสัมพันธ์

กรมโยธาธิการและผังเมืองขอชี้แจงข่าว “มีการปลดล็อคผังเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน

จนทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน”

ตามที่ นายปราโมทย์นาครทรรพ นักรัฐศาสตร์และนักวิชาการอิสระ มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค “Pramote Nakornthab” อ้างข้อมูลจากนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ กล่าวถึง “มีการปลดล็อคผังเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน จนทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน”กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอเรียนชี้แจงในประเด็น ดังนี้

ตามที่ประเทศไทยประสบปัญหาความมั่นคงในการจัดหาพลังงาน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีข้อขัดข้อง จากข้อกำหนดทางกฎหมายผังเมือง บางประการ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙ เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับ

ผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ

ให้ยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองรวมที่ใช้บังคับอยู่ ณ วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙ รวมทั้งกฎกระทรวง

ผังเมืองรวมที่จะประกาศและมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐ สำหรับการอนุมัติอนุญาตให้ประกอบกิจการดังต่อไปนี้

(๑) การประกอบกิจการคลังน้ำมัน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง เกี่ยวเนื่องกับ

การประกอบกิจการโรงไฟฟ้า

(๒) การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (ลำดับที่ ๘๘) เฉพาะที่ได้กำหนดไว้ใน

- แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๗๙)

- แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๗๙)

- แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๗๙)

- แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๗๙)

ทั้งนี้ การประกอบกิจการคลังน้ำมันและกิจการโรงไฟฟ้า ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดโครงการ

(๓) การประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

- โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งไม่ใช่ก๊าซธรรมชาติ (ลำดับ ๘๙)

- โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (ลำดับ ๑๐๑)

- โรงงานคัดแยก ฝังกลบขยะ (ลำดับ ๑๐๕)

- โรงงานรีไซเคิลผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงาน (ลำดับ ๑๐๖)

(๔) กิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดมูลฝอย

จากคำสั่งข้างต้นทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถอนุมัติอนุญาตการประกอบกิจการตามข้อ (๑) - (๔)

ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ภายในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐) โดยไม่ต้องพิจารณาข้อห้ามตามกฎหมายผังเมือง แต่ยังคงต้องพิจารณาเงื่อนไข การอนุมัติอนุญาตตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

แนวทางการแก้ไข

ในการจัดทำคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๕๙ เป็นการสร้างประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาด้านพลังงานและปัญหาสิ่งแวดล้อมในเรื่องขยะล้นเมือง รวมถึงการบริหารจัดการขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเป็นการยกเว้นให้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๘ - ๒๕๗๙ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ หรือแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.๒๕๕๘ - ๒๕๗๙ หรือแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.๒๕๕๘ - ๒๕๗๙ หรือแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ.๒๕๕๘ - ๒๕๗๙ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๗ตุลาคม ๒๕๕๘ จึงจะได้รับยกเว้นให้ดำเนินการดังกล่าวได้ (มิได้เป็นการยกเว้นให้ดำเนินกิจการใดๆ ก็ได้)

นอกจากนี้ ในการประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าและการกำจัดขยะ ยังมีกฎหมายอื่นที่ใช้ในการควบคุมในการประกอบกิจการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ เช่น กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เป็นต้น โดยมีการควบคุมเรื่องสถานที่ตั้งกิจการ รวมถึงเงื่อนไขในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม จึงมิได้หมายความว่าจะสามารถดำเนินกิจการได้ หากขัดกับกฎหมายอื่น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการประกอบกิจการนั้นอย่างเร่งด่วนประชาชนสามารถยื่นขอแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ตามมาตรา ๒๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๘ ได้

กรมโยธาธิการและผังเมือง

๓๐ มกราคม ๒๕๖๒

  • ผู้โพสต์ :
    pr2002
  • อัพเดทเมื่อ :
    30 ม.ค. 2019 20:39:57

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา