​ก.พลังงาน เดินหน้าหนุนใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างอาชีพและรายได้มั่นคงแก่ชุมชน และพร้อมต่อยอดส่งเสริมต่อเนื่อง

เอสเอ็มอี โอทอป

ก.พลังงาน เดินหน้าหนุนใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์

สร้างอาชีพและรายได้มั่นคงแก่ชุมชน และพร้อมต่อยอดส่งเสริมต่อเนื่อง

ก.พลังงาน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ประชารัฐ ของรัฐบาล ส่งเสริมชุมชนใช้เทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ชูเกิดระบบอบแห้งแสงอาทิตย์แล้ว 379 ระบบ พื้นที่อบแห้งรวม 49,325.5 ตารางเมตร เกิดผลประหยัดรวมประมาณ 108 ล้านต่อปี สร้างชุมชนเข้มแข็งด้านพลังงาน เกิดอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ยันต่อยอดส่งเสริมระบบอบแห้งต่อเนื่อง

(16 ม.ค.61) นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดกิจกรรมสัมมนาสื่อมวลชน เรื่อง “กระทรวงพลังงาน หนุนเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (Parabola Dome – พาราโบล่าโดม) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมีวิทยากรที่เข้าร่วมสัมมนา จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมชุมชนที่ประสบความสำเร็จได้มาร่วมบรรยายให้แก่สื่อมวลชนจากส่วนกลาง และภูมิภาค

นางสาวนันธิกา กล่าวในงานสัมมนาว่า หนึ่งในโครงการประชารัฐที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงพลังงานพร้อมจะขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมนั้น คือ การสนับสนุนลงทุนติดตั้งใช้งานเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ พาราโบล่าโดม ที่จะให้ผู้ประกอบการภาครัฐ เอกชน และผู้ที่สนใจติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เกิดการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ในกระบวนการอบแห้งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากการอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานหรือ พพ. ได้ให้การส่งเสริมโครงการ ฯ ในลักษณะดังกล่าว โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน และได้ดำเนินการติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้วทั้งสิ้น 379 ระบบ ครอบคลุมพื้นที่อบแห้งรวม 49,325.50 ตารางเมตร เกิดผลประโยชน์รวมประมาณ 108 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งได้ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการฯ ที่ผ่านมา สามารถช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้สูงถึง 8,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ จากตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เช่นที่ โครงการ “บางกระทุ่มโมเดล” อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ที่ช่วยให้เกษตรกรในชุมชน สามารถผลิตกล้วยตาก ได้ประมาณ 1,000 ตันต่อปี ลดการสูญเสียจากการตากด้วยวิธีธรรมชาติ การเปียกฝนและแมลงรบกวน ยกมาตรฐานการผลิตกล้วยตากให้กับชุมชน เพื่อสามารถต่อยอดไปสู่มาตรฐานสากลได้ สร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง รายได้ที่ยั่งยืน จากการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุน สอดคล้องกับแนวคิดของ ประชารัฐ ซึ่งนับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

“กิจกรรมสัมมนาฯ ในวันนี้ ถือเป็นการต่อยอด และขยายผลการส่งเสริมระบบอบแห้งแสงอาทิตย์ดังกล่าว ของกระทรวงพลังงาน โดยได้วิทยากรที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องระบบอบแห้งแสงอาทิตย์ ทั้งจาก กรม พพ. และจาก มหาวิทยาศิลปากร ที่เป็นกำลังหลักสำคัญของโครงการฯ รวมทั้งวิทยากรที่จะมาเล่าถึงความสำเร็จจากชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีระบบอบแห้งแสงอาทิตย์นี้ จนสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคง และรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป” นางสาวนันธิกา กล่าว

  • ผู้โพสต์ :
    princessmews
  • อัพเดทเมื่อ :
    16 ม.ค. 2018 15:27:34

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา