ก.พลังงาน เดินหน้าตรวจเยี่ยมโครงการสำคัญ จ.ตราดและจันทบุรี ชูโครงการพลังน้ำ “คิรีธาร” และ“คลองทุ่งเพล” สร้างประโยชน์การผลิตไฟฟ้า เสริมระบบชลประทานให้แก่เกษตรกร ชี้พลังน้ำคิรีธาร ผลิตไฟฟ้ารวมแล้วกว่า 847 ล้านหน่วย จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบสร้างรายได้มากกว่า 1,600 ล้านบาท และพื้นที่เพาะปลูกกว่า 89,000 ไร่ได้ประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเสริมพลังน้ำคลองทุ่งเพลเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบให้พื้นที่ ยันส่งเสริมพลังงานน้ำระดับชุมชนต่อเนื่อง สร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน
(5 ก.พ.61) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางตรวจเยี่ยมโครงการในจังหวัดตราดและจันทบุรี ซึ่งเป็นภารกิจก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบนโยบายในการดำเนินงานให้แก่พลังงานจังหวัด ในเขตพื้นที่ (ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรีและนครนายก) ก่อนเดินทางตรวจเยี่ยมโครงการสำคัญ ๆ โดยเฉพาะโครงการพลังงานทดแทน ด้านพลังงานน้ำ ได้แก่
โครงการคิรีธาร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเอนกประสงค์ขนาดกลาง ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลบ่อเวฬุ อำเภอขลุง และตำบลปัถวี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2529 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 และพระราชทานชื่อว่า “เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร” โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โครงการคิรีธาร ถือเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ที่ให้ประโยชน์ทางด้านการผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ มีส่วนเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำจันทบุรีเป็นประโยชน์ต่อการเกษตร และเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการประปาในอำเภอเมืองจันทบุรี
ทั้งนี้ โครงการคิรีธาร สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 27 ล้านหน่วย ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมในเขตจังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่ประมาณ 89,000 ไร่ จากน้ำซึ่งใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วจะไหลลงสู่แม่น้ำจันทบุรี โดยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 7 สถานี และฝายยางกั้นลำน้ำจันทบุรีในเขตอำเภอเมือง สูบน้ำส่งให้แก่เกษตรกรทั้งสองฝั่งลำน้ำในฤดูแล้ง ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค และขับไล่น้ำเค็มในฤดูแล้งของลุ่มน้ำจันทบุรี ในเขตจังหวัดจันทบุรี รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาการสูญเสียกำลังไฟฟ้าในระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของประเทศ โดยตั้งแต่เริ่มโครงการ ฯ จนถึงปัจจุบัน โครงการพลังน้ำคิรีธาร สามารถผลิตไฟฟ้ารวมได้ทั้งสิ้น 847 ล้านหน่วย มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และสามารถสร้างรายได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,600 ล้านบาท
โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล ซึ่งจะเป็นโครงการที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกรส่วนใหญ่ของจังหวัดจันทบุรี สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรครอบคลุม 4 ตำบล คือ ตำบลพลวง ตำบลตะเคียนทอง(บางส่วน) ในเขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ (ระบบส่งน้ำเพื่อการเกษตรฝั่งตะวันตก) และตำบลวังแซ้ม ตำบลฉมัน ในเขตอำเภอมะขาม (ระบบส่งน้ำเพื่อการเกษตรฝั่งตะวันออก) รวมประมาณ 25 หมู่บ้าน 2,580 ครัวเรือน ได้พื้นที่ประมาณ 108,000 ไร่ รวมทั้งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำ ได้ประมาณปีละ28.16 ล้านหน่วย และช่วยลดการสูญเสียในระบบสายส่งไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงในระบบสายส่งของประเทศ โดยโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพลได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2532ได้ก่อแล้วเสร็จ
ปี 2559 ซึ่งได้ยื่นขอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าร่วมกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร 22 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทดสอบจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) และจำหน่ายไฟฟ้าภายในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้
แนวทางการส่งเสริมพลังงานทดแทนระดับชุมชน โดยเฉพาะพลังงานน้ำขนาดเล็กระดับชุมชนดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงาน หรือ AEDP เพื่อเสริมระบบความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว และที่สำคัญพลังงานน้ำไม่มีต้นทุนด้านเชื้อเพลิง และน้ำก็ยังสามารถกลับมาใช้ได้ต่อเนื่อง รวมทั้งการบริหารจัดการที่จะให้ประโยชน์ด้านการเกษตร และช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยขณะนี้กระทรวงพลังงาน ได้ส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กในระดับชุมชนดังกล่าวแล้ว 25 แห่ง รวมกำลังผลิต 2.97 เมกะวัตต์ และในอนาคตจะได้เพิ่มการส่งเสริมต่อไป ดร.ศิริ กล่าว
ดร.ศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลากว่า 30 ปี ได้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเพื่อประโยชน์การชลประทานและการมีไฟฟ้าใช้ โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (ชื่อในอดีต สำนักงานพลังงานแห่งชาติ/กรมพัฒนาพลังงานและส่งเสริมพลังงาน) 118 โครงการกำลังการผลิตรวม 65 เมกกะวัตต์ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการให้สามารถนำรายได้จากการขายไฟฟ้าเพื่อนำมาพัฒนาชุมชนโดยรอบ ทั้งในเรื่องการร่วมกันบำรุงรักษาป่า การพัฒนาการชลประทาน การซ่อมบำรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเพราะหากประชาชนไม่ช่วยกันรักษาป่าก็จะไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ และไม่เกิดการพัฒนา เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการโครงการที่ยั่งยืนตามแนวทางประชารัฐต่อไป
.................................................