สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ประกาศรายชื่อนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น

ข่าวประชาสัมพันธ์

สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ประกาศรายชื่อนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น และนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดาวรุ่ง พร้อมเตรียมจัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 61 โดยจะมีพิธีมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติ และเชิญรับฟังปาฐกถาพิเศษจาก “ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์” หัวข้อ Crisis Management : ผู้นำในภาวะวิกฤติวางแนวทางระดมทุนขอรับบริจาคผ่าน “กองทุนมูลนิธิสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาล” เพื่อสร้างสาธารณะประโยชน์ให้แก่ด้านการศึกษาต่อไป

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตรนายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (สนร.) เปิดเผยว่า ในปี 2561 นี้สนร. ได้ดำเนินการคัดเลือกนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น และนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดาวรุ่ง เพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่นักเรียนทุนรัฐบาลไทย โดยการคัดเลือกครั้งนี้ มีนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นจำนวน 5 ราย ได้แก่

  • ดร.สฤต สันติเมทนีดล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  • ดร.วิลาศ สิงหวิสัย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
  • นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย)
  • ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร
  • ศ.ดร.สุสัณหา ยิ้มแย้ม ศาสตราจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

และนักเรียนทุนรัฐบาลดาวรุ่ง จำนวน 3 ราย ได้แก่

  • นายมาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจจีน ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ดร.ณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยพีบีเอส
  • นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้ สนร. จะได้เตรียมจัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่งในงานจะมีพิธีมอบเข็มประกาศเกียรติคุณนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น และนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดาวรุ่ง ประจำปี 2561 ดังกล่าว โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้มอบ รวมทั้งภายในงาน จะได้รับเกียรติจากนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Crisis Management : ผู้นำในสภาวะวิกฤติ”

นอกจากนี้ ภายในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งนี้ สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ร่วมกับ มูลนิธิสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย จะมีกิจกรรมพิเศษที่จะขอระดมทุนบริจาคเพื่อจัดตั้ง หรือการเพิ่มเติมในกองทุนเดิม หรือสมทบเข้า “กองทุนมูลนิธิสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย” เพื่อส่งเสริมกิจการของสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย สำหรับการศึกษา การเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ โดยจะขอระดมทุนจากประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดการบริจาคได้ที่ www.thaigovscholars.org

ฝ่ายเลขาธิการ

โทร. ๐ ๒๓๕๗ ๓๑๔๓

มือถือ ๐๘ ๙๗๗๓ ๖๙๖๙

โทรสาร ๐ ๒๓๕๗ ๓๑๔๓

E-mail : thaigovscholars@gmail.com

รางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น

  • ดร.สฤต สันติเมทนีดล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  • ดร.วิลาศ สิงหวิสัย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
  • นายณรงศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา/อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
  • ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศอธิบดีกรมสรรพากร
  • ศ.ดร.สุสัณหา ยิ้มแย้มศาสตราจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและเอกทางด้านวิศวกรรมและแผนการขนส่ง จากประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาลไทย เริ่มรับราชการครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2513 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ได้กลับมารับราชการที่กรมการขนส่งทางบก

ในระหว่างรับราชการ มีบทบาทสำคัญในการกู้เงินจากธนาคารโลกเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและขนส่งในเขตกรุงเทพมหานคร และทางธนาคารโลกได้ขอให้กระทรวงมหาดไทย ขอยืมตัวมาช่วยงานโครงการเงินกู้ดังกล่าว หลังจากจัดตั้งสำนักคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) จึงได้ย้ายขาดจากกระทรวงคมนาคมมาเป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สจร. กระทั่งใน ปี พ.ศ.2526-2528 จึงได้โอนไปรับราชการที่กรมพาณิชย์สัมพันธ์ (ปัจจุบันคือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ)ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเอกสารเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กระทรวงพาณิชย์ และในปี พ.ศ.2529-2534 เป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นอกจากนี้ ดร. สฤต ยังเคยเป็นข้าราชการการเมือง โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย เดือนกันยายน พ.ศ. 2535 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ในปี พ.ศ. 2537โดยปัจจุบัน ดร.สฤต ยังคงอุทิศตนทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมต่อเนื่อง และที่สำคัญยังได้สนับสนุนงานของสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย พร้อมทั้งรับตำแหน่งเป็นนายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ระหว่างปี 2557-2558

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการศึกษาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร ระดับปริญญาโทด้านการวิจัยการศึกษา มหาวิทยาลัย Indiana สหรัฐอเมริกา และ ปริญญาเอกด้านการวัดผลและประเมินผลที่University of Toronto ประเทศแคนาดา ด้วยทุนรัฐบาลไทย และได้รับประกาศนียบัตรขั้นสูง ด้านการวัดผลและวิเคราะห์ทางสถิติ จากมหาวิทยาลัย Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา

เริ่มรับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการก่อนจะโอนย้ายมาที่สำนักงาน ก.พ. ในตำแหน่งวิทยากรเอกชั้น โท กองวิชาการและสอบไล่ ในปี พ.ศ.2509 ระหว่างการรับราชการ ได้ผ่านงานสำคัญมามากมาย อาทิผู้อำนวยการกองการสอบ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือนรองเลขาธิการ ก.พ. และดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. ในปี 2535-3538 นอกจากนี้ ยังเป็นประธาน อ.ก.พ. ใน อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 25 ปี จนถึงปัจจุบัน

ผลงานโดดเด่นในระหว่างการรับราชการคือ การสร้างระบบการสอบเข้ารับราชการให้มีความโปร่งใส ยุติธรรมเป็นไปตามระบบคุณธรรม จนได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการสอบ”มีการพัฒนางานด้านวินัยข้าราชการ การออกข้อบังคับ ก.พ.ว่าด้วยจรรยาบรรณของข้าราชการ ผลักดันให้คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศใช้นโยบายพัฒนาข้าราชการพลเรือนและก่อตั้งสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน จนทำให้ได้รับรางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่น ท่านมีส่วนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภาคราชการให้เป็นสากล และเป็นผู้แทนในการประชุมระดับโลกด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลมาโดยตลอด นอกเหนือจากงานในหน้าที่ราชการแล้ว ดร. วิลาศ ยังมีประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานอื่น อาทิ กรรมการกฤษฎีกา และสมาชิกวุฒิสภา อีกทั้งท่านยังคงอุทิศตนทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง คือ เป็นประธานมูลนิธิ พ.อ.จินดา ณ สงขลา อีกด้วย

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในสาขาโยธา ปี พ.ศ. 2528 สำเร็จนิติศาสตรบัณฑิต (ปี พ.ศ. 2536) เทคโนโลยีบัณฑิต (พ.ศ. 2545) และรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (พ.ศ. 2556) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต สาขา Geodetic Science and Surveying ปี พ.ศ. 2531 ด้วยทุนรัฐบาลไทย และได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2561

เริ่มรับราชการเป็นวิศวกรโยธา ในกรมที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528ได้ผ่านงานสำคัญมามากมาย อาทิ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลแผนที่ของกรมที่ดิน อดีตผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีทำแผนที่กรมที่ดิน อดีตที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจของกรมที่ดิน อดีตผู้ตรวจราชการของกระทรวงมหาดไทยและเมื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านได้ยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินนโยบายโครงการต่างๆ ที่จะต้องดำเนินนโยบายโดยยึดหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ประชาชนได้รับความคุ้มค่า โครงการมีทั้งประสิทธิผลและประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบได้

นอกจากนี้ ผลงานที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงมากมาจากการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานการณ์ช่วยเหลือเด็กและโค้ชติดถ้ำ 13 คน (ทีมหมูป่าอะคาดามี่) ในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นภารกิจที่ได้บัญชาการเหตุการณ์ กำหนดวางแผน ควบคุมดูแลและบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือเด็กและโค้ช ทั้ง 13 คน ที่ติดในถ้ำหลวง อย่างเป็นระบบ มีความชัดเจน จนบรรลุเป้าหมายสามารถช่วยเหลือผู้สูญหายทั้ง 13 คน ได้สำเร็จสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งในระดับนานาชาติ

นอกเหนือจากงานในหน้าที่ราชการแล้ว นายณรงค์ศักดิ์ ยังคงอุทิศตนทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญยังได้สนับสนุนงานของสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย พร้อมทั้งเคยรับตำแหน่งต่างๆในสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทยหลายสมัยอีกด้วย

จบการศึกษาเศรษฐศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยทุนสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ จาก University of Illinois at Urbana-Champaign ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ที่ Claremont Graduate University ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาลไทย

รับราชการที่กระทรวงการคลัง ได้ผ่านงานสำคัญมามากมาย อาทิ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อัครราชทูต (ฝ่ายเศรษฐกิจการคลัง) ประจำสหราชอาณาจักรและยุโรป ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โฆษกกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร มีผลงานสำคัญ อาทิ พัฒนาแบบจำลองเพื่อจัดทำประมาณการเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังเป็นคนแรก เสนอคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เร็วขึ้น

ดร.เอกนิติ ยังมีประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานอื่น อาทิ ประธานคณะกรรมการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และประธานคณะกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ดร.เอกนิติ ยังคงอุทิศตนทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง เช่น การเป็นวิทยากรให้กับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมทั้งมีผลงานทางวิชาการ ผ่านหนังสือและสิ่งพิมพ์มากมาย

จบการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตด้านพยาบาลและผดุงครรภ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้จบปริญญาโท ด้านการดูแลสุขภาพเบื้องต้น จาก University of Western Sydney และปริญญาเอก ด้านสุขภาพสตรี จาก The University of Melbourne เครือรัฐออสเตรเลีย ด้วยทุนรัฐบาลไทย รวมทั้งยังเคยได้ทุนวิจัย (Research Fellowship) จาก Harvard University สหรัฐอเมริกา และ LaTrobe University เครือรัฐออสเตรเลีย

รับราชการที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์เนื่องจาก เป็นผู้มีความรู้ ความโดดเด่นในด้านการทำวิจัย และการผลิตตำราอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์สำหรับประกอบในการประชุมวิชาการและการเรียนการสอนอย่างแพร่หลายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมีการจัดทำโครงการแบบเดี่ยวและแบบมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ ศ.ดร. สุสัณหา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาผลงานทางวิชาการของสถาบันการศึกษาพยาบาล เป็นที่ยอมรับในความรู้ ความสามารถ จนได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่น ศิษย์เก่าดีเด่น อาจารย์ดีเด่นสาขาการวิจัย พยาบาลดีเด่น และ คนดีศรีพยาบาล จากหลายสถาบัน มีผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ และมีจิตอาสาช่วยเหลือสังคมและวิชาชีพการพยาบาลอย่างต่อเนื่องจน ได้รับรางวัลพยาบาลดีเด่นด้านการวิจัย/นวัตกรรมทางการพยาบาล เขตภาคเหนือ ประจำปี พ.ศ.2560 จากสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยอีกด้วย

รางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดาวรุ่ง

  • นายมาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจจีน ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ดร.ณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอส(สื่อมวลชนสายสังคม)
  • นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์

จากการศึกษาปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MBA ด้านการเงิน มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาลไทย

เริ่มรับราชการในสำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ.2539 ทำงานในระบบราชการ ประมาณ 4 ปี จึงลาออกมาทำงานในภาคเอกชน ร่วมงานบริษัทหลักทรัพย์ CLSA ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ระดับภูมิภาคที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในฮ่องกงพร้อมกับมีเครือข่ายอยู่ในหลายๆ ประเทศ ทำงานในบริษัท CLSA ที่ฮ่องกง 1 ปี และที่เซี่ยงไฮ้ 8 ปี ตำแหน่งสุดท้ายก่อนกลับประเทศคือ เป็น Head of China A-Share Research โดยเป็นหัวหน้าทีมวิจัยคนเดียวในประเทศจีนที่เป็นคนต่างชาติและนำพาทีมงานไปสู่รางวัลจากนิตยสาร Institutional Investor อันดับที่ 3 ในจำนวนทีมวิจัยกว่า 20 ทีม

หลังจากนั้นในปี 2555 จึงได้มาทำงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จนถึงปัจจุบัน และยังทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ด้าน International Banking/China Business Development และเป็นผู้บุกเบิกและจัดตั้งธุรกิจจีนให้แก่ธนาคาร จนนำไปสู่การได้รับรางวัล Local Bank for Belt & Road Project in Southeast Asia โดยนิตยสาร Asia Money ปี พ.ศ. 2560 และรางวัล Best Belt & Road Bank in Thailand โดยนิตยสาร Finance Asia ปี พ.ศ.2561

จบการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโททางสังคมวิทยา และปริญญาเอกทางสตรีศึกษา The London School of Economics (LSE) ด้วยทุนรัฐบาลไทย

เริ่มรับราชการเป็นนักวิจัย/อาจารย์ ศูนย์สตรีศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2549-2551 ต่อมาโอนย้ายมาเป็นพนักงานสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ในปี พ.ศ.2551 จนถึงปัจจุบัน ดร.ณัฎฐา มีประสบการณ์มากมายในด้านสื่อมวลชน เป็น ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี สายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นนักแปล และผู้ดำเนินรายการ (นอกเวลา) วิทยุBBC ภาษาไทยภาคบริการโลกเป็นบรรณาธิการข่าว/ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และปัจจุบันเป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอสในกลุ่มข่าววิเคราะห์สถานการณ์

นอกจากนี้ ยังเป็น บรรณาธิการข่าว และผู้ประกาศข่าว รายการที่นี่ไทยพีบีเอส โดยดำเนินรายการ“มีนัดกับณัฏฐา”“Newsroom” “ห้องข่าวไทยพีบีเอส”และ “ตอบโจทย์”ซึ่งรับผิดชอบการทำงานด้านสื่อสารมวลชน โดยดูแลเนื้อหาข่าวทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอาเซียนโดยตั้งเป้าหมายที่จะเปิดมุมมอง และวิสัยทัศน์ของคนไทย เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในประเทศ และต่างประเทศ และพยายามอธิบายเพื่อให้ได้เห็นการเชื่อมโยงกันระหว่างบริบทของไทยและนานาชาติ ซึ่งได้ใช้ความรู้ที่ได้ศึกษามาในระหว่างเรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในการปฏิบัติงาน

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโท สาขาคอมพิวเตอร์ (Software Engineering) จากมหาวิทยาลัย New York (NYU) ด้วยทุนรัฐบาลไทย

กลับมารับราชการในปี พ.ศ.2545 เป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ 4 ศูนย์สารสนเทศการค้าระหว่างประเทศจนกระทั่งเป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ 7 ศูนย์สารสนเทศการค้าระหว่างประเทศ ได้ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ สำนักบริการส่งออก 1 กรมส่งเสริมการส่งออก ในปี พ.ศ. 2546 จากนั้น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล ในปี พ.ศ.2549 และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแผนพัฒนาการส่งออก มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ Prime Minister Operation Center ของกระทรวงพาณิชย์

นอกจากนี้ ยังมีส่วนผลักดันโครงการ World Expo ณ นครเซี่ยงไฮ้ และยุทธศาสตร์เชิงรุกการค้าการลงทุนในประเทศจีน นอกจากนี้เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติผลงานที่โดดเด่น คือการเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเวปไซต์ traitrade.com ให้เป็น B2B e-Marketplace จนได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติระดับดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2556 และ พ.ศ.2559 ประเภทการพัฒนาการบริการที่เป็นเลิศอย่างยั่งยืนจากสำนักงาน ก.พ.ร.

………………………………………………………………

  • ผู้โพสต์ :
    princessmews
  • อัพเดทเมื่อ :
    21 พ.ย. 2018 11:01:31

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา