สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. มีวิสัยทัศน์เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
มีพันธกิจที่มุ่งวิจัยพัฒนาและบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสร้างคุณค่ามูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจประเทศบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ตอบสนองการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน และผลักดันให้เกิดการนําไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ รับรองระบบคุณภาพ อบรมและที่ปรึกษา เพื่อยกระดับมาตรฐานและความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
จากกรอบการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กรดังกล่าว และในฐานะที่ วว. เป็นองค์กรชั้นนำในการบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมอย่างยั่งยืน “4 Guiding Principles” เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย
Bio Based Research วิจัยและพัฒนาบนฐานของทรัพยากรชีวภาพ ครอบคลุมภารกิจที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศ เช่น การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และการแพทย์ครบวงจร
Appropriate Technology พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือตอบสนองความ ต้องการของผู้ใช้ ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทในการใช้งานจริง ทั้งในด้านต้นทุนและความชับช้อนของเทคโนโลยี
Total Solution Provider การบริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจนสู่ระดับเชิงพาณิชย์ (Commercialization) อย่างครบวงจรจนถึงส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการทุกระดับ
Community (Area Based) การดำเนินงานที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
นอกจากนี้การแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจ เปิดโอกาสในการดำเนินงานด้าน วทน.ที่ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์ของโควิด-19 เข้าสู่ยุคนิวนอร์มอล ชีวิตวิถีใหม่
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. พร้อมด้วย ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) ดร.ฮัฟนี ลาเต๊ะ นักวิชาการ ศทร. และ น.ส.รัตนา งามวิศิษฐ์ศิลป์ เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ ได้เข้าร่วมประชุม WAITRO Horizon Europe Capacity Building & Networking Event ในฐานะผู้แทน Regional Focal Point (RFP) of Asia and the Pacific 2021- 2022 ระหว่างวันที่ 21-25 มิ.ย. 2565 ณ ประเทศสเปน
WAITRO (The World Association of Industrial and Technological Research Organizations) เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร โดยได้รับการสนับสนุนการก่อตั้งจาก UNDP, UNESCO, UNIDO และ ECOSOC มีภารกิจสนับสนุนและประสานความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและองค์กรด้านวิจัยพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 100 หน่วยงาน จากมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ วว. เป็นสมาชิกของ WAITRO มาตั้งแต่ปี 1985 อีกทั้งยังได้รับเลือกเป็นหน่วยงาน WAITRO Regional Focal Point (RFP) Asia and the Pacific ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา มีหน้าที่ประสานความร่วมมือและการสื่อสารระหว่างสำนักเลขาธิการ WAITRO กับหน่วยงานสมาชิกในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งการเป็นเครือข่ายองค์กรวิจัยระดับนานาชาติของสมาชิก WAITRO อย่างต่อเนื่อง
จากการเยือนประเทศสเปนในครั้งนี้ ผู้แทน วว. ได้ร่วมกิจกรรมต่างๆกับพันธมิตรนานาชาติ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนี้
❶ Pitching Session, Brainstorming Session และศึกษาดูงาน ณ หน่วยงาน Leitat Technological Center (LEITAT), Terrassa และ DFACTORY โดย ผู้ว่าการ วว. ได้นำเสนอผลงานเด่น Bio-Circular-Green (BCG) Economy ที่ วว. ดำเนินการ เช่น การเพิ่มมูลค่าเมล็ดมะไฟจีนเป็นน้ำมันสกัด และการพัฒนาคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ กิจกรรมของ WAITRO ที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย เช่น รางวัล WAITRO Innovation Award 2021 การจัดสัมมนาออนไลน์ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมของ WAITRO ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ของ วว. การนำเสนอ WAITRO ในงานประชุมนานาชาติต่างๆ เพื่อหาสมาชิก การสำรวจหัวข้อความสนใจภายใต้กรอบ Horizon Europe ของประเทศสมาชิก โครงการความสำเร็จภายใต้กรอบ Horizon 2020 และกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในอนาคต พร้อมนี้ ดร.อาณัติ และ ดร.ฮัฟนี ได้นำเสนอหัวข้อการส่งเสริมการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย และได้เข้าร่วมประชุมหารือเรื่อง Novel Food, Food Ingredients และ Altemative Protein กับหน่วยงาน Center for Innovation, Research and Transfer in Food Technology (CIRTTA)
โอกาสนี้ ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ร่วมแบ่งปันความคิดและให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโปรตีนทดแทนจากสาหร่ายและแมลง ดร.อาณัติ และ ดร.ฮัฟนี เสนอความคิดเกี่ยวกับการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์ เพื่อผลักดันให้ วว. มีส่วนร่วมในการเป็นหน่วยงานความร่วมมือขอทุน Horizon Europe และศึกษาดูงาน ณ DFACTORY เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งเป็น Co-working Space และศูนย์กลางในการสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 นอกจากนี้ ได้เข้าร่วมประชุมหารือเรื่อง เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารใหม่ Novel Food พร้อมศึกษาดูงานในโรงงานนำทางของหน่วยงาน Center for Innovation, Research and Transfer in Food Technology (CIRTTA), Universitat Autònoma de Barcelona ณ เมืองบาร์เซโลนา
❸ ประชุมสร้างเครือข่าย หารือการสนับสนุนความร่วมมือด้านวิจัยพัฒนาระดับนานาชาติ การถ่ายทอดเทคโนโลยีกับหน่วยงาน Centre for the Development of Industrial Technology (CDTI) ซึ่งมีภารกิจช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของบริษัทสเปน ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระดับประเทศและนานาชาติ โดยการให้ทุนสนับสนุนและสรรหาแหล่งเงินทุนวิจัยอื่นๆ เช่น กรอบความร่วมมือ Horizon Europe และ Southeast Asia-Europe Joint Funding Scheme for Research and Innovation (JFS SEA) เป็นต้น โดย ผู้ว่าการ วว. ได้นำเสนอโครงการที่ วว. มีความร่วมมือกับหน่วยงานสเปน และหัวข้อความร่วมมือที่เป็นไปได้ เช่น ทรัพยากรดิน การเกษตร แหล่งโปรตีนทดแทนจากแมลงและสาหร่าย เทคโนโลยีระบบราง และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ นอกจากนี้ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต เอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด คณะผู้แทนจากสถานเอกอัครทูต (สอท.) และ น.ส.วิชาดา ภาบรรเจิดกิจ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงมาดริด
❹ ประชุมหารือและสร้างเครือข่ายกับ 3 หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนี้
1.Centro de Investigación en Tecnologías Ferroviarias (CITEF) มีความเชี่ยวชาญด้านการฝึกจำลองรถไฟฟ้า การตรวจสอบความถูกต้องและการทวนสอบ งานวิจัยและพัฒนา รวมถึงการฝึกอบรมและการศึกษาระบบราง
2.Consejo Superior de Investigaciones Científicas (CSIC) หรือ Spanish National Research Council ทำหน้าที่ส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่งานวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สนับสนุนความรู้ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การจัดฝึกอบรมนักวิจัย และเป็นที่ปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในสาขาต่างๆ เช่น ชีววิทยา เกษตรศาสตร์ เทคโนโลยีอาหาร วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์เคมี วัสดุศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
3.Escuela Técnica Superior de Ingenieros de Caminos, Canales y Puertos (ETSICCP), Universidad Politécnica de Madrid (UPM) หรือ School of Civil Engineering มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างและวัสดุสำหรับงานก่อสร้าง งานโยธา และการขนส่ง
❺ ร่วมหารือและศึกษาดูงานเรื่องการรีไซเคิลแบตเตอรี่ทุกประเภท ณ กรุงมาดริด เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไป ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ นาฬิกา ถ่านอัลคาไลน์ ณ โรงงาน Envirobat España ซึ่งมีภารกิจในการศึกษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิลวัสดุและแบตเตอรี่ เพื่อนำไปสู่การกู้คืนวัตถุดิบที่มีมูลค่าสูง และการแยกโลหะที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ ซึ่งการหารือครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาด้านการจัดการและรีไซเคิลแบตเตอรี่ของ วว. ตลอดจนตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)
กิจกรรมที่คณะผู้แทน วว. ได้ดำเนินการในโอกาสเยือนสเปนดังกล่าว เป็นอีกก้าวสำคัญหนึ่งของ วว. ในการขยายขอบเขตความร่วมมือด้าน วทน. ในระดับนานาชาติ เชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประเทศชาติในระยะเวลาอันใกล้นี้