(31 สิงหาคม 2563) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จัดสัมมนา “การขับเคลื่อนอาชีวศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อีอีซี” โดย นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การยกระดับทักษะบุคลากรไทย ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” พร้อมด้วย สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี วัดไตรมิตรวิทยาราม (สมเด็จธงชัย) ให้โอวาทด้านการศึกษาไทย โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นำเสนอความคืบหน้าโครงการด้านการศึกษาในพื้นที่อีอีซี นอกจากนี้ นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร EEC-HDC และนายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี EEC ร่วมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ขับเคลื่อนอาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซี” ณ ห้องบอลลูม 1-2 โรงแรงแบงค็อก แมริออท เดอะสุรวงค์
การจัดสัมมนา “ขับเคลื่อนอาชีวศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อีอีซี” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะบุคลากรแบบตรงตามความต้องการ Demand driven (EEC Model) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซี (Excellence Center) รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการพัฒนาทักษะบุคลากรร่วมกับผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษากว่า 40 แห่งในพื้นที่อีอีซี โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
เดินหน้าอีอีซีโมเดล ยืนยันสร้างบุคลากรตรงงานอีอีซีกว่า 475,000 คน ในปี 2563
สกพอ. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะบุคลากรตรงตามความต้องการ Demand driven ภาคเอกชนร่วมจ่าย โดยประมาณความต้องการบุคลากรในพื้นที่อีอีซี ระยะเวลา 5 ปี (2562 – 2566) จำนวน 475,668 อัตรา แบ่งเป็นความต้องการในสายอาชีวศึกษาและสายสามัญ ร้อยละ 53 และความต้องการจากหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) หลักสูตรการศึกษาระยะสั้น (Short Course) ร้อยละ 47 โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมในการพัฒนาทักษะบุคลากรระดับอาชีวศึกษาจำนวน 377 แห่ง และระดับอุดมศึกษาจำนวน 277 แห่ง ทั้งนี้ แผนดำเนินการ อีอีซีโมเดล ปี 2563 มีเป้าหมายจะพัฒนาทักษะบุคลากรประมาณ 8,500 คน ซึ่งแบ่งเป็น
EEC Model Type A เป็นรูปแบบที่เอกชนจ่าย 100% (เรียนฟรี มีงานทำ รายได้สูง) พัฒนาทักษะบุคลากร รวมเป็นจำนวน 2,516 คน แบ่งเป็น (1) จากสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 1,731 คน อาทิ สาขาวิชาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อากาศยาน มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก สาขาอุตสาหกรรมการแพทย์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น (2) จากสถาบันอาชีวศึกษา จำนวน 785 คน อาทิ สาขาวิชาบริหารจัดการโลจิสติกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จังหวัดระยอง เป็นต้น
EEC Model Type B เป็นการฝึกอบรมระยะสั้น (Short Courses) เพื่อผลิตกำลังคน ปรับทักษะ (Re skill) เพิ่มทักษะ (Up skill) ในระยะเร่งด่วน เป็นหลักสูตรแบบ Non-degree และมีเงื่อนไขให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณไม่เกินร้อยละ 50 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 เอกชน เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าจะสามารถผลิตบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถ ได้อย่างรวดเร็วตรงความต้องการ (demand) ของแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึง มีแผนจะขยายผลไปยังนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปี 3 และชั้นปี 4 ให้สามารถเก็บสะสมการฝึกอบรมระยะสั้น (Short Courses) เป็น Credit Bank ในอนาคตได้
ปัจจุบันหลักสูตรระยะสั้น ได้ผ่านการพิจารณาและรับรองหลักสูตรจากคณะทำงานศูนย์ประสานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) จำนวน 82 หลักสูตร โดยพัฒนาทักษะบุคลากรรวมเป็นจำนวน 6,064 คน อาทิ ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 54 หลักสูตร จำนวน 5,030 คน อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 21 หลักสูตร จำนวน 672 คน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3 หลักสูตร จำนวน 42 คน เป็นต้น ปีงบประมาณ 2564 วางแผนผลิตเพิ่มอีก 30,000 คน ทั้งนี้ ไม่นับรวมโครงการที่รองรับสถานการณ์โควิด-19 จะผลิตเพิ่มอีก 9,500 คน ภายใต้ พ.ร.บ. เงินกู้ 400,000 ล้านบาท (กำลังขออนุมัติ)
ยกระดับศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา สร้างอนาคตเยาวชนอีอีซี
สกพอ. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันแนวทางการจัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซี (Excellent Center) เพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้กับนักเรียนได้อย่างตรงจุด และสามารถทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา พร้อมสร้างเครือข่ายกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ตลอดจนเน้นการแนะแนวการศึกษาต่อตามศักยภาพของผู้เรียน อันจะเป็นการยกระดับการอาชีวศึกษาครั้งใหญ่ในพื้นที่อีอีซี
ในเบื้องต้น ศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซี มีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา (ด้านศูนย์ยานยนต์สมัยใหม่) วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม (ด้านศูนย์ดิจิทัลและหุ่นยนต์) วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี (ด้านศูนย์ระบบรางและ Logistic) วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ (ด้านศูนย์ Aviation และการท่องเที่ยว) วิทยาลัยเทคนิคระยอง (ด้านศูนย์ Automation & Robotic) และวิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี (ด้านศูนย์โลจิสติกส์)
ก้าวต่อไป เร่งผลักดันอีอีซีโมเดลอย่างต่อเนื่อง
ในอนาคต ยุทธศาสตร์การพัฒนาทักษะบุคลากรในอีอีซี ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568) จะแบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ 1) พัฒนาบุคลากร ให้ตรงความต้องการ (Demand Driven) ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม ตามรูปแบบอีอีซีโมเดล 2) พัฒนาสิ่งแวดล้อม การศึกษา (Education ecology) ให้เท่าทันการปรับตัวของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยุคศตวรรษที่ 21 ในทุกระดับ 3) สร้างองค์กรความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา และสถานประกอบการ เพื่อให้ผลิตบุคลากรตรงโจทย์ความต้องการ 4) ผลักดันความร่วมมือด้านข้อมูลสารสนเทศ ทางการศึกษา และการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
.......................................................................................