สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทยชี้! ผู้ป่วยรูมาตอยด์ขาดการรักษาที่ถูกต้อง
เตรียม จัดงาน เรียนรู้ สู้รูมาตอยด์ แบบเจาะลึก
สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ชี้ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีแนวโน้มมากขึ้น และส่วนใหญ่ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำให้ผู้ป่วยยากต่อการเข้าถึง และระบบหลักประกันสุขภาพไม่ครอบคลุมยารักษา เตรียมจัดงาน เข้าใจ เรียนรู้ สู้รูมาตอยด์ แบบเจาะลึก เปิดประสบการณ์ตรง “เมื่อคุณรูมาตอยด์มาเยือน” โดยผู้ป่วยรูมาตอยด์เรียนรู้แนวทางการรักษาโรครูมาตอยด์ที่ถูกต้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรครูมาตอยด์อย่างรู้เท่าทัน ในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2561 ณ โรงพยาบาลราชวิถี เวลา 08.00-12.30 ลงทะเบียนหน้างาน (ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
ศ.นพ. วรวิทย์ เลาห์เรณู นายกสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน แนวโน้มผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เพิ่มสูงขึ้นโรคนี้พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 1 ในประเทศตะวันตก สำหรับประเทศทางเอเชียรวมทั้งประเทศไทยพบได้บ่อยประมาณร้อยละ 0.3 ดังนั้นถ้าคิดจากจำนวนประชากรประเทศไทย คาดว่าน่าจะมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 180,000 คนแต่เชื่อว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมไม่เกิน 50,000 คน ด้วยสาเหตุหลัก คือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงโรค โดยขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคนี้เพียง 150 ท่าน และอายุรแพทย์ทั่วไป รวมถึงศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ที่ผ่านการอบรมและสามารถดูแลผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ได้อย่างดีไม่เกิน 500 ท่าน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐ สถาบันผลิตแพทย์เฉพาะทาง ควรให้ความสำคัญ ในการผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่ม (Rheumatologist) ให้มากขึ้นเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างทั่วถึง อีกทั้งระบบหลักประกันสุขภาพไม่ครอบคลุมยาบางชนิดที่จำเป็นต้องใช้ในรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเป็นผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดและความพิการตามมา
เนื่องจาก โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จัดได้ว่าเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการทำลายข้อเป็นลักษณะเด่น จึงมีความจำเป็นต้องรีบให้การรักษาก่อนข้อจะถูกทำลายลักษณะเด่นของโรคนี้คือ มีอาการปวดข้อ มีข้ออักเสบชนิดเรื้อรังโดยเฉพาะข้อมือและข้อนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า และมักเป็นทั้ง 2 ข้างแบบสมมาตรกัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่ระยะแรก จำทำให้ข้อถูกทำลายเกิดข้อพิการผิดรูปและภาวะทุพลภาพตามมา ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ในระยะแรกอาจจะมีอาการปวดข้อ ปวดเมื่อย เหนื่อยอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไข้ต่ำ ข้อฝืดตึงตอนเช้ามากกว่า 1 ชั่วโมง โดยอาการข้ออักเสบจะยังไม่ชัดเจน จนกว่าอาการของโรคจะดำเนินไปหลายสัปดาห์
.ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคนี้ มีการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมในครอบครัว ภาวะติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในช่องปาก และเชื้อไวรัสบางชนิดพบว่าการสูบบุหรี่ก็ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เช่นกัน สำหรับอาหารไม่พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้
สำหรับการดูแลตนเอง ผู้ป่วยต้องสร้างกำลังใจและทำความเข้าใจต่อโรค ถึงแม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ แต่จากความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันการที่มียาที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคที่ดีขึ้น วิธีการประเมินโรคและวิธีการบริหารยาที่เหมาะสมทำให้โรคนี้สามารถควบคุมได้ดีกว่าในอดีตอย่างมากจนถึงขนาดที่บางรายโรคสามารถเข้าสู่ระยะสงบ ไม่เกิดข้อพิการผิดรูป ผู้ป่วยสามารถทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนปกติ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขแต่การรักษาที่จะให้ได้ผลดีนั้น ต้องเริมการักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรคก่อนข้อจะถูกทำลายผู้ป่วยต้องติดตามการรักษา รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ พบว่าการรักษาที่ล่าช้าจะทำให้เกิดภาวะข้อพิการผิดรูป ถึงแม้จะสามารถควบคุมภาวะการอักเสบได้แต่ก็จะไม่สามารถทำให้ข้อกลับคืนกลับมาเหมือนคนปกติได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง ยา ชุด สมุนไพร อาหารเสริม หรือยาอื่นที่ยังไม่ผ่านการรับรอง ควรงดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา ผู้ป่วยควรได้ฝึกการบริหารข้อ ฝึกการใช้ข้อที่อักเสบอย่างเหมาะสม มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการบีบนวดข้อ ทั้งนี้ อาจจะต้องได้รับการแนะนำจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักกายภาพบำบัด
ศ.นพ. วรวิทย์เลาห์เรณูนายกสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า การรักษาในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาไปอย่างมากมีการนำยาต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค หรือยา DMARDs มาใช้ควบคุมโรคตั้งแต่ระยะแรก เป็นผลให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ด้วยดีตั้งแต่ระยะแรกนอกจากนี้ได้มีการพัฒนายาใหม่ๆ เช่น ยาชีววัตถุ (biologic agents) ซึ่งเป็นยาชนิดฉีด หรือยาต้านรูมาติสซั่มชนิดมุ่งเป้า (targeted synthetic DMARDs) ชนิดรับประทาน ซึ่งยาทั้งสองกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในโรครูมาตอยด์ เป็นต้น พบว่าการรักษาด้วยยาใหม่ได้ผลดีทำให้โรคเข้าสู่ระยะสงบได้เร็ว แม้ว่า การรักษาด้วยยา DMARDs ดั้งเดิมซึ่งเป็นยาที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาตินับว่าได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งซึ่งมีอาการโรครุนแรงไม่ตอบสนอง หรือตอบสนองต่อยา DMARDs ไม่ดีพอ ทั้งยาชีววัตถุและยาต้านรูมาติสซั่มชนิดมุ่งเป้านี้ไม่ถูกบรรจุคลอบคลุ่มอยู่ไม่ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติและยากลุ่มนี้สามารถเบิกได้เฉพาะสิทธิข้าราชการเท่านั้น