วรุณา จับมือ เก้าไร่ ส่งโดรนการเกษตร “เจ้าเอี้ยง” เร่งปั้นนักบินโดรน
ยกระดับภาคการเกษตรไทยก้าวสู่ “เกษตรอัจฉริยะ” เพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีครบวงจร
วรุณา (VARUNA) บริษัทในเครือ เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ผู้นำการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรของประเทศไทย ตอกย้ำพันธกิจร่วมกับเก้าไร่ (Gaorai) ผู้ให้บริการและพัฒนาระบบจัดการทางการเกษตร เดินหน้าต่อยอดนวัตกรรมบริการด้านเทคโนโลยีโดรนการเกษตรแบบครบวงจร ส่งโดรนการเกษตร “เจ้าเอี้ยง” อบรมส่งต่อชุดความรู้ มุ่งขยายฐานนักบินโดรนรองรับการเข้าสู่เทคโนโลยี “เกษตรอัจฉริยะ” คาดปั้นนักบินโดรนมากกว่า 500 คนในปีนี้ พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชันบริหารจัดการนักบินเข้าถึงงานในแต่ละพื้นที่ หวังต่อยอดบริการทางการเกษตรครอบคลุมทุกการใช้งานของเกษตรกรไทยในอนาคต
นางสาวพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เนื่องจากภาคเกษตรกรรมของไทยจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหารของโลกที่เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทช่วยการทำงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ปัจจุบันมีกลุ่ม Smart Farmer จำนวนมากที่มีความสนใจนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับพื้นที่เพาะปลูกเพื่อลดข้อจำกัดในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการใช้โดรนการเกษตร ซึ่งวรุณามีความเชี่ยวชาญด้านนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การคิดค้นและพัฒนาโดรนการเกษตร การจัดอบรมนักบินโดรน และการให้บริการบินโดรนฉีดแปลงเกษตรสำหรับเกษตรกรที่ต้องการรับบริการตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป จนถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ประกอบกับการตั้งเป้าขยายฐานนักบินโดรน และให้บริการฉีดแปลงเกษตรที่ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรให้มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการขยายฐานพันธมิตร โดยได้ร่วมมือกับ “เก้าไร่” ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโดรนการเกษตร รวมถึงการเก็บและประมวลผลข้อมูลการฉีดแปลงเกษตร โดยการผนึกกำลังของวรุณาและเก้าไร่ครั้งนี้เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดเกษตรอัจฉริยะครอบคลุมประเทศไทย
วรุณาในฐานะผู้นำการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรของประเทศไทย โดยผสานเทคโนโลยีดาวเทียม (Satellite) กับการใช้ข้อมูลสำรวจและภาพถ่ายจากโดรนมัลติสเปกตรัม (Multispectrum Drone) และนำดาต้ามาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านแพลตฟอร์ม “Varuna Analytics” ช่วยติดตามสุขภาพของพืช (Crop Health Monitoring) ติดตามการเจริญเติบโตของพืช (Growth Stage Monitoring) และช่วยคาดการณ์ผลผลิต (Yield Prediction) ได้อย่างแม่นยำแล้ว วรุณายังได้พัฒนาโดรนการเกษตรในชื่อ “เจ้าเอี้ยง AIANG” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเกษตรกรในเรื่องการพ่นปุ๋ยและฉีดผลิตภัณฑ์การเกษตร นอกจากนี้ยังมีการอบรมนักบินโดรนมืออาชีพทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้นักบินโดรนได้รับใบอนุญาตการบินที่ถูกต้อง สามารถฉีดแปลงเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำเหมาะกับพืชแต่ละประเภท อาทิ อ้อย ข้าวโพด ข้าว และมันสัมปะหลัง โดยปัจจุบันมีนักบินโดรนมืออาชีพพร้อมให้บริการในพื้นที่ต่างๆ และตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 500 คนในปี 2565 นอกจากนี้วรุณากำลังพัฒนาซอฟท์แวร์แอปพลิเคชันเพื่อช่วยบริหารจัดการงานของนักบิน และจับคู่นักบินโดรนมืออาชีพกับเกษตรกร (Service Matching) ที่ต้องการใช้บริการโดรนฉีดแปลงเกษตรให้เชื่อมต่อกันและสามารถเรียกใช้บริการตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ
มร. มาทาส ดาเนียลลีวิเชียส ซีอีโอ บริษัท เก้าไร่ บิซิเนส โซลูชันส์ จำกัด กล่าวว่า เก้าไร่ร่วมเป็นพันธมิตรกับวรุณา โดยต้องการนำแนวคิด ‘Gamification’ มาสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในภาคการเกษตรแบบใหม่ ที่ทำให้ความรู้ด้านการเกษตรที่ฟังดูน่าเบื่อ กลายเป็นเนื้อหาที่สนุกและสามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งยังต้องการจะผสานเชื่อมต่อศักยภาพของผู้ผลิตโดรนการเกษตร และความเชี่ยวชาญระบบการสำรวจพื้นที่และวิเคราะห์ด้วย AI ของวรุณา มาปรับใช้เป็นความรู้ด้านการจัดการระบบ (Operational Knowledge) และฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อพัฒนาบริการและโซลูชันที่ดียิ่งขึ้นสำหรับเกษตรกร องค์กร และเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เป็นลูกค้าของเก้าไร่ และการนำโดรนการเกษตร “เจ้าเอี้ยง” (AIANG) มาใช้ และยังช่วยในเรื่องของการเพิ่มจำนวนผลผลิต แก้ปัญหาด้านแรงงานได้อย่างเห็นผล ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ได้ให้บริการโดรนฉีดแปลงเกษตรไปมากกว่า 1,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง
“การมีฝูงบินโดรนของเราเอง ทำให้เก้าไร่มีความสามารถในการฝึกอบรมนักบินโดรนมืออาชีพ เรามุ่งหวังให้บริการที่มีคุณภาพและดีที่สุดแก่เกษตรกร บริษัท และพันธมิตรของเรา ซึ่งนอกจากจะให้บริการพ่นปุ๋ยและฉีดผลิตภัณฑ์การเกษตรแล้ว ยังรวบรวมข้อมูลหลังการบิน เช่น สุขภาพพืชผล ประสิทธิภาพและการใช้ผลิตภัณฑ์การเกษตร ประสิทธิภาพของโดรน ฯลฯ และจัดเตรียมรายงานข้อมูลเชิงลึกให้แก่ลูกค้าของเก้าไร่อีกด้วย”
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างวรุณากับเก้าไร่ โดยการส่งโดรนการเกษตร “เจ้าเอี้ยง” เร่งปั้นนักบินโดรนการเกษตร นับเป็นการขยายบริการที่ทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจอย่างก้าวกระโดด เปิดโอกาสในการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้สนใจมีอาชีพเป็นนักบินโดรนการเกษตรมากขึ้น ทำให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้าถึงบริการโดรนการเกษตรได้อย่างง่ายดาย และยังได้ร่วมมือกันพัฒนานักบินโดรนให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน รวมไปถึงการเพิ่มผลผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป นางสาวพณัญญา กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุถึงกองบรรณาธิการ
ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท
บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับหลากหลายธุรกิจ รวมทั้งภาคเกษตรกรรม กลุ่มธุรกิจก่อสร้างและกลุ่มธุรกิจพลังงาน ประกอบด้วยเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานทางอากาศ ทางบก และทางทะเล และครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีแบบเดิมไปจนถึงนวัตกรรมที่ล้ำสมัย และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นตามความต้องการเฉพาะของแต่ละธุรกิจ www.arv.co.th
บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มต้นจากเป็นหน่วยธุรกิจภายใต้บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2563 และได้จดทะเบียนเป็นบริษัทในเดือนกันยายน 2564 วรุณาเป็นผู้นำการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยผสานเทคโนโลยีดาวเทียม (Satellite) กับการใช้ข้อมูลและภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (Drone) และนำดาต้ามาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านแพลตฟอร์ม “Varuna Analytics”
“วรุณา (VARUNA)” Seeding the Sustainable Future ร่วมสร้างรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืน คือพันธกิจหลักในการขับเคลื่อนและยกระดับภาคสิ่งแวดล้อม และการเกษตรของประเทศไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และระดับประเทศ ผ่านการใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลภูมิศาสตร์ด้วยโดรนสำรวจ ดาวเทียม และประมวลผลบิ๊กดาต้าของภาคสิ่งแวดล้อมและการเกษตรด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ - AI) เพื่อช่วยวางแผนบริหารพื้นที่ลดต้นทุนการผลิต วางแผนการเพาะปลูกอย่างแม่นยำ ติดตามและแจ้งเตือน รวมทั้งประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับการเกษตรของประเทศไทย
ทำความรู้จักวรุณามากขึ้นได้ทาง https://www.varunatech.co/ หรือ https://www.facebook.com/varunatech/