วันที่ 10 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุม 5-2 (ห้องสมภพ โหตระกิตย์) อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพมหานคร สมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และองค์กรเครือข่ายทำความดี กว่า 30 องค์กร ร่วมจัดงาน TEA PARTY 55 ปี มธบ. ความดียิ่งบอกเล่ายิ่งมีพลัง
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.กิตติคุณ สารคล่อง ผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดสมุทรปราการ และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเครือข่ายนักศึกษาเก่า ประจำภูมิภาคและจังหวัด สมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวต้อนรับแขกผู้ร่วมงาน ดร.ฐิติ ชัยนาม ประธานสี่เสาหลัก กล่าวชื่นชมการจัดกิจกรรม พิธีกรดำเนินงานโดย คุณชัยศิลป์ คนคล่อง และคุณสุกัญญา สว่างศานติสกุล จาก สวท. กรมประชาสัมพันธ์ หลังจากนั้นมีการร่วมแลกเปลี่ยนนานาทัศนะดื่มน้ำชาและสนทนายามบ่าย “55 ปี มธบ. ความดียิ่งบอกเล่ายิ่งมีพลัง”
นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องทำความดี “ความดีมีความหลากหลายคำจำกัดความ ความดีก็ต้องมีราคาที่ต้องจ่าย ความดีเป็นแนวความคิด Negative สร้างความสุขกายสบายใจที่ยั่งยืน ทำไมเรื่องเล่าแห่งความดีจึงมีพลัง เพราะความจริง มนุษย์ชอบเรื่องเล่าโดยธรรมชาติ และมีความรู้สึกด้านดีในจิตใจ มักเลียนแบบผู้อื่นอย่างไม่รู้ตัว เรื่องเล่าแห่งความดีจึงมีพลัง เนื่องจาก แตะอารมณ์ที่เป็นสากล ความหวัง ความสุข ความเศร้า ความกลัว โดนใจผู้ฟัง แล้วสร้างความเชื่อมต่ออารมณ์จนนำไปสู่การกระทำ ทำให้ผู้ฟังเห็นตัวเอง หรือเห็นการต่อสู้ของตนเองในกระจก จนกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายเป็นส่วนตัวและเชื่อมต่อกับตนเอง ทำให้คนฟังรู้สึกดี ยกสปริต ให้ความรู้สึกของการมีความหวังและการเห็นโลกในแง่ดี จูงใจให้คนอื่นเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับสู่ชีวิตที่มีความหมายยิ่งขึ้น ทำให้คนรวมกันเป็นหนึ่งในการเอาชนะอุปสรรค เกิดเป้าหมาย และการกระทำร่วมกัน” เป็นต้น
นายสัตวแพทย์ ดร. อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทยและกรรมการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า “การทำความดีก็เหมือนการทำนา หรือการปลูกข้าว ซึ่งต้องใช้ความอดทนในการดูแลเอาใจใส่ ไม่ให้ต้นข้าว ประสบภัยจากอุปสรรคนานา เช่น น้ำท่วม หรือภาวะแห้งแล้ง จึงต้องขยันในการที่จะทำให้ต้นข้าวรอดชีวิต จนกระทั่งถึงเวลาเก็บเกี่ยว ซึ่งแสดงถึงผลสำเร็จ คือได้ข้าวไว้ขายหรือบริโภค เป็นสิ่งที่ตอบแทนในการทำความดี ขณะเดียวกันก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองและเป็นมงคลกับชีวิต”
ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ประธานมูลนิธิเอิร์ธ อะเจนด้า ประธานที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเครือข่าย นักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เห็นว่า “ความดียิ่งบอกเล่ายิ่งมีพลัง เป็นการบอกเล่าความดีเหมือนการจุดพลุที่จะสร้างความงดงามอันยิ่งใหญ่ทำให้คนมากมายชื่นชมและอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความดี”
คุณพรอัปสร นิลจินดา อดีตผู้อำนวยการส่วนจัดและควบคุมรายการสถานีวิทยุ โทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ (NBT) กล่าวว่า ขอน้อมนำพระราชดำรัส ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้พระราชทานแก่ ผู้สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ณ สวนอัมพร เมื่อ พ.ศ. 2525 “การทำความดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจ และเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี” ซึ่งหมายถึงการทำความดีนั้นทำยาก แต่เมื่อทำแล้ว มีคนเห็นคุณค่าของการทำดี มีคนกล่าวขาน บอกต่อ ปฏิบัติตามกล่าวถึงชื่นชม ยิ่งทำให้ เรามีพลัง มีกำลังใจ ที่จะทำความดีให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะพลังของความดี ส่วนใหญ่มักจะเงียบ แต่เมื่อจำเป็นเราจะเห็นแสงแห่งพลัง เปล่งประกายอย่างชัดเจน เหมือนความดี ที่พ่อหลวงของเรา ได้ทำประโยชน์ แก่ปวงชนชาวไทย ความดี ไม่มีวันตาย
ดร.กิตติคุณ สารคล่อง ผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดสมุทรปราการ เห็นว่า “ความดี คือการทำให้เกิดผลดีอย่างมีคุณค่าต่อผู้อื่น ต่อส่วนรวมหมายรวมถึงต่อตนเองเฉกเช่นกัน ความดีย่อมมีพลัง มีฤทธานุภาพในตัวเองอยู่แล้ว หากแต่ความดีนั้นจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ต้องอาศัยการบอกเล่า บอกต่อ ให้บุคคลรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้คนหันมาทำความดีกันเยอะๆ มิใช่เพื่อการอวดหน้า อวดตาแต่ประการใด”
คุณลัลน์ลลิตฤดี วิเศษศิริ นายกสมาคมสมาพันธ์นักข่าว (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ทุกๆ ที่มีความดีล้อมรอบอยู่ เราแค่มองให้เห็นรูปแบบของความดีในแบบที่คนอื่นทำเพื่อสร้างพลังและความงดงามให้กับโลกได้โดยปราศจากเงื่อนไข”
คุณโซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่า “จากวันเป็นเดือน เป็นปี เป็นทศวรรษ กว่าจะมาถึงวันนี้ การทำงานทุกย่างก้าวมักเจออุปสรรคนานา มูลนิธิเพื่อนช้างก้าวมาอยู่ในปีที่ 31 และอีกสามเดือนก็จะขึ้นปีที่ 32 แล้ว เราทุกคนที่เพื่อนช้างสามารถทำงานช่วย "ช้าง" มาได้ก็จากความช่วยเหลือของท่านทั้งหลาย พลังใจที่มีมาจากความดีที่ท่านมอบให้นั้น สะท้อนอยู่ในงานที่เราทำค่ะ”
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล อุปนายกสโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ เห็นว่า “ชีวิตที่มีคุณค่า ต้องมีคุณธรรมและสร้างคุณประโยชน์ ศรัทธาในความจริง ความดี และความงามแห่งชีวิต การมีหัวใจเต้นเพื่อคนอื่นนั้น ย่อมมีความหมาย ซึ่งต้องพิสูจน์ด้วยกาลเวลา ส่วนตัวก็มีบุคคลต้นแบบความดี เช่น พระธรรมวชิรญาณ (จิรพล อธิจิตฺโต), คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ, ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์, ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ และ อาจารย์สนั่น เกตุทัต ผู้ก่อตั้งมธบ.” เป็นต้น
กิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก อาจารย์เฉิดโฉม จันทราทิพย์ ทายาทผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ดร.ประศาสน์ จันทราทิพย์ กรรมการอำนวยการ มธบ. สมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะอนุกรรมการเครือข่ายนักศึกษาเก่า ประจำภูมิภาคและจังหวัด วิทยาลัยครุศาสตร์ มธบ. วิทยาลัยครุศาสตร์ มธบ. สมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) มูลนิธิเอิร์ธ อะเจนด้า มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อนช้าง มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ชมรมคนรักช้างป่า และองค์กรเครือข่ายทำความดีอื่น กว่า 30 องค์กร
กิจกรรมดังกล่าวหวังเพียงการจุดประกายความหวัง ด้วยการเพาะหว่านเมล็ดต้นกล้าแห่งความดีงามให้เบิกบาน กระจายไปทั่ว เพราะ “ฉันจะผ่านโลกนี้ แต่เพียงหน จึงกุศล ใดใดที่ทำได้ หรือเมตตา ซึ่งอาจให้มนุษย์ใด ขอให้ฉัน ทำให้แต่โดยพลัน อย่าให้ฉันละเลย เพิกเฉยเสีย หรือผัดผ่อน อ่อนเพลีย ไม่แข็งขัน เพราะตัวฉัน ต่อไป ไม่มีวัน จรจรัล ทางนี้อีกทีเลย” จาก William Penn แปลโดย ศาตราจารย์ ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ เพราะ “ความดียิ่งบอกเล่ายิ่งมีพลัง”