​มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปักธงเป็นหนึ่งผู้นำเรื่องกัญชา เปิดตัวศูนย์วิจัยครั้งแรก-ดึงวิสาหกิจชุมชนร่วมศึกษา

การศึกษา ภาษา ติวเตอร์

มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปักธงเป็นหนึ่งผู้นำเรื่องกัญชา เปิดตัวศูนย์วิจัยครั้งแรก-ดึงวิสาหกิจชุมชนร่วมศึกษา

ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา นำร่องลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับวิสาหกิจชุมชนแม่สรวยเมล่อน จ.เชียงราย เตรียมพลิกสวนเมล่อนปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ พร้อมเปิดตัว “ศูนย์วิจัยกัญชา กัญชง และกระท่อมทางการแพทย์” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องกัญชาแบบครบทุกมิติแก่ประชาชน ลั่นมีความพร้อมในการวิจัยและพัฒนากัญชาให้เป็นยา คาด 1 ปี ได้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาช่วยเหลือผู้ป่วย

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา) จับมือ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา จัดงานประชุมเสวนาวิชาการ “กัญชาและกัญชงทางการแพทย์” เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกัญชาในเชิงวิชาการ ข้อกฎหมาย การปลูก การสกัด ฯลฯ ที่ถูกต้องครบถ้วนแก่ประชาชน โดย รศ.ดร.บุญมี กวินเสกสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ร่วมด้วยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ศ.ดร.สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ ราชบัณฑิตประจำสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ศ.ดร.บังอร ศรีพานิชกุลชัย ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.สยาม อรุณศรีมรกต รองคณบดีฝ่ายมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและวิเทศสัมพันธ์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ พ.ต.ท.หญิง ดร.ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ อุปนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ในฐานะ ที่ปรึกษาสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย และได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ร่วมลงนาม MOU กับวิสาหกิจชุมชนแม่สรวยเมล่อน จ.เชียงราย ณ อาคาร 7 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก เมื่อเร็วๆ นี้

รศ.ดร.บุญมี กวินเสกสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ที่ผ่านมากัญชาคือยาเสพติดให้โทษและต้องโทษ ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีงานวิจัยหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์มากพอที่จะให้ความรู้แก่ประชาชน ผนวกกับโฆษณาชวนเชื่อในสรรพคุณว่ากัญชาคือยาวิเศษ ทำให้เกิดความสับสนทั้งด้านการใช้อย่างปลอดภัย การปลูกแบบถูกกฎหมาย รวมไปถึงการแปรรูปที่ให้ผลทางการแพทย์อย่างแท้จริง ฯลฯ ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงร่วมมือกับพันธมิตรจัดงานประชุมเสวนาวิชาการขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องกัญชาแก่สังคมแบบครบทุกมิติ

รศ.ดร.บุญมี กล่าวต่ออีกว่า ทางคณะฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการศึกษาและเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ และจัดตั้งศูนย์วิจัยกัญชา กัญชง และกระท่อมทางการแพทย์ขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นแห่งแรกๆ ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งทางคณะฯ มีความพร้อมทั้งทางด้านเทคโนโลยี เครื่องมือ และบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ เภสัชกร และกลุ่มงานแพทย์แผนไทยที่จะมาช่วยผสมผสาน ทดสอบ รวมถึงพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังทำ MOU ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนแม่สรวยเมล่อน ต.แม่พริก อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ในการพัฒนาพื้นที่สวนเมล่อนบางส่วน ให้กลายเป็นแปลงปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ ด้วยสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวบ้านในพื้นที่สนใจเรื่องกัญชาทางการแพทย์ โดยหวังแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทางมหาวิทยาลัย เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาแปรรูปกัญชาให้กลายเป็นยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชน และยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในอนาคต นับว่าเป็นมิติใหม่ของการร่วมมือพัฒนาด้านการแพทย์และเทคโนโลยี ระหว่างสถาบันการศึกษาและพื้นที่ชุมชน

“หากวิสาหกิจชุมชนแม่สรวยเมล่อนได้รับอนุญาตให้เพาะปลูก ซึ่งย้ำว่าต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ผลผลิตกัญชาที่ได้ก็นำมาวิจัยร่วมกับกัญชาที่เพาะปลูกบนแปลงทดลองในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ คาดว่า 1 ปีหลังจากนี้ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา จะมียาหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากกัญชาไว้ใช้รักษาผู้ป่วยได้” คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ระบุ

ด้าน ศ.ดร.สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ ราชบัณฑิตประจำสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา แสดงทัศนะเกี่ยวกับการใช้กัญชาในทางการแพทย์ในประเทศไทยว่า วิธีการที่จะช่วยให้การใช้สารสกัดจากกัญชารักษาผู้ป่วยในประเทศไทยประสบผลสำเร็จมากที่สุดคือ ต้องปลดล็อคให้กัญชาและกัญชงพ้นจากสถานะยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัตยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และควรบัญญัติให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชสมุนไพร นอกจากนี้ ควรอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาและกัญชงเพื่อรักษาโรคเองได้ประมาณ 5-10 ต้น เนื่องจากมีผลวิจัยจากสหรัฐอเมริกาค้นพบว่า วิธีการใช้สารสกัดจากกัญชาที่ได้ประโยชน์มากที่สุด และไม่ก่อให้เกิดการเสพติดคือการใช้แบบต้นสดในการทำเป็นยาหรืออาหาร ซึ่งปลอดภัยกว่าการใช้แบบสารสกัด ที่มีสาร THC ที่ทำให้เกิดอาการเมามากถึงร้อยละ 30

ศ.ดร.สิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า อีกแนวทางหนึ่งที่อาจช่วยลดข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น คือการหันมาวิจัย พัฒนา และปลูกกัญชงให้มากขึ้น ซึ่งกัญชงมีสารที่ทำให้เมา หรือ THC ต่ำกว่าร้อยละ 1 แต่กลับมีสารที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ หรือ CBD มากถึงร้อยละ 30 ขณะที่กัญชามีสารที่เป็นประโยชน์เท่ากัน แต่มีสาร THC ในปริมาณที่มากกว่าร้อยละ 20-30 นอกจากนี้ จากการวิจัยกัญชงกับโครงการหลวงมานานถึง 10 ปี นอกจากเส้นใยและสรรพคุณทางยาที่พบแล้ว เมล็ดกัญชงยังเป็นพืชที่มีสารโอเมก้า 3 ซึ่งหากมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดได้จำนวนมาก ไทยก็อาจมีอาหารเพื่อสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้นอีกชนิดหนึ่งด้วย

“แม้จะเสนอให้ปลดล็อกสถานะกัญชาและกัญชงพ้นจากยาเสพติด แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการเปิดใช้แบบเสรี และจำเป็นต้องมีกฎหมายลูกออกมาควบคุมการใช้ เช่น เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามใช้ หรือผู้ที่หยดน้ำมันสกัดกัญชาห้ามขับรถหลังหยดเป็นต้น เพื่อลดข้อกังวลและความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น” ราชบัณฑิตประจำสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ชี้แจงเพิ่ม

ขณะที่ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ สธ. กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อรักษาโรคที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ เพราะไม่มีใครหรือหน่วยงานใดออกมาวัดผลให้เป็นที่ประจักษ์ ว่าการใช้สารสกัดกัญชาที่ได้ผลทางการแพทย์ ควรใช้สายพันธุ์ไหน ในปริมาณเท่าใด และต้องใช้อย่างไรถึงปลอดภัยแก่ชีวิต การใช้จึงอยู่ในลักษณะใต้ดิน สกัดกันเอง ใช้กันเอง ทั้งๆ ที่กัญชามีหลายสายพันธุ์ และความเข้มข้นในการออกฤทธิ์ต่อโรคของแต่ละสายพันธ์ก็ไม่เท่ากัน ซึ่งในต่างประเทศมีการรายงานถึงการใช้สารสกัดจากกัญชาแล้วเสียชีวิตถึง 14 ราย

“สิ่งที่ควรทำคือทำให้ถูกกฎหมาย และควรมีหน่วยงานกลางในการวัดผลและตรวจสอบ การใช้ก็ควรใช้ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชาที่ได้รับการรับรองว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีส่วนประกอบอะไรบ้าง เพราะกัญชาไม่ได้มีแต่ด้านที่เป็นประโยชน์ แต่หากมีโทษต่อพัฒนาการทางสมองของคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี และที่อาจไปเร่งปฏิกิริยาของยาที่ผู้สูงอายุใช้รักษาโรคจนเกิดอันตรายต่อชีวิต” ผอ.สำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าว

สอดคล้องกับ พ.ต.ท.หญิง ดร.ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ อุปนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ในฐานะ ที่ปรึกษาสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ที่เห็นพ้องว่าประเทศไทยควรมีหน่วยงานกลาง หรือ National Agency ในการดูแลจัดการเรื่องกัญชาทั้งระบบ ตามคำแนะนำขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยกล่าวว่า การจัดการทางด้านกฎหมายเพื่อปลดล็อคในเรื่องนี้มีอยู่ 2-3 ทางเลือก โดยทางเลือกที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดคือการร่างกฎหมายพืชเสพติดเพื่อการแพทย์ฉบับใหม่ขึ้นมา และไม่แตะต้อง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งจะสามารถตั้ง Nation Agency ในกฎหมายใหม่ได้เลย แต่จะให้เป็นในลักษณะองค์กรของภาครัฐ กึ่งภาครัฐ หรือเอกชน รัฐบาลต้องศึกษาและตัดสินใจโดยอิงประโยชน์ของประชาชนสูงสุด

“ในต่างประเทศเริ่มกัญชามาก่อนไทย เขาจะใช้กัญชาทางการแพทย์ก่อน แล้วขยับเป็นกัญชาเพื่อการบันเทิง แล้วจึงค่อยเป็นกัญชาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเขาจะทำให้คนในชาติรู้และเข้าใจประโยชน์ของกัญชาก่อน โดยระยะเวลาที่ใช้จากกัญชาทางการแพทย์มาให้เพื่อการบันเทิง ส่วนใหญ่ใช้เวลามากถึง 20 ปี แต่ของไทยพอจะเริ่มเราคิดแล้วว่าจะรวยจากกัญชากันเลย โดยที่ไม่ได้มองเลยว่าพื้นที่ที่จะเพาะปลูกนั้นมีคุณภาพอย่างไร เพราะกัญชาเป็นพืชดูดสารพิษ ยิ่งกัญชามาจากประเทศเพื่อนบ้านที่สงครามมีฝนเหลือง ซึ่งฝนเหลืองอยู่ได้ถึง 100 ปี แล้วเอาใบมาสกัดให้กิน ให้ใช้ ตรงนี้เราก็ต้องตระหนัก รัฐบาลต้องให้ความรู้กับประชาชน” พ.ต.ท.หญิง ดร.ฐิชาลักษณ์ กล่าว.

  • ผู้โพสต์ :
    vorapa
  • อัพเดทเมื่อ :
    11 ก.ค. 2019 14:44:25

ลงข่าวประชาสัมพันธ์ ฟรี คลิกที่นี่

 

X

เว็บไซต์เรามีการใช้คุกกี้ คลิกเพื่อดู นโยบายคุกกี้ และ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา