มรภ. บ้านสมเด็จเจ้าพระยา สร้างเครือข่ายวัฒนธรรม กระตุ้นสังคมฉุกคิดผลของการสื่อสารที่มีทั้งคุณและโทษ ผ่านการแสดงละครชาตรีร่วมสมัย เรื่องเหล้า (เล่า)...ของเมรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของย่านธนบุรี จัดโครงการเปิดบ้านสมเด็จเจ้าพระยา รักษาวัฒนธรรมต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะคิดบวกสิปป์ ได้คัดสรรการแสดงละครชาตรีร่วมสมัย เรื่องเหล้า (เล่า)...ของเมรี พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเสวนา ณ โรงละคร 150 ปี ศรีสุริยวงศ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อสะท้อนสังคมให้รับรู้ถึงพลังของการสื่อสารในยุคใหม่ที่สามารถสร้างความหมายให้เกิดการตีความได้ทั้งคุณและโทษ ถือเป็นการใช้ศิลปวัฒนธรรมโบราณมาสร้างสรรค์รูปแบบการนำเสนอในปัจจุบันและผลักดันให้เกิดการยอมรับของเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างกลมกลืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิษณุ บางเขียวรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “กระแสสังคมในวันนี้ เป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่า เราเสพข่าวที่เราพบเห็น การทำงานของสื่อเอง และช่องทางการสื่อสารผ่านโซเขียลมีเดียมีอิทธิพลมาก ทั้งในด้านคุณประโยชน์และโทษรุนแรงหากสังคมไม่ตระหนักรู้ การกระตุ้นให้สังคมได้เห็นถึงแนวทางการเลือกเสพสื่ออย่างมีสติเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับ คณะคิดบวกสิปป์ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงของไทยอย่างมีแนวคิด มาร่วมสร้างสรรค์และจัดการแสดงละครชาตรีร่วมสมัย เรื่องเหล้า (เล่า)...ของเมรี พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเสวนา เพื่อสะท้อนสังคมให้รับรู้ถึงพลังของการสื่อสารในยุคใหม่ที่สามารถสร้างความหมายให้เกิดการตีความได้ทั้งคุณและโทษ โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ชมได้แง่คิดและเห็นถึงความพยายามในการสืบสานศิลปะการแสดงละครชาตรีด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการเปิดบ้านสมเด็จเจ้าพระยา รักษาวัฒนธรรม โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม”
นายยุทธนา อัมระรงค์ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขานาฏยศิลป์ และหัวหน้าทีมคิดบวกสิปป์ กล่าวถึงเนื้อหาในการแสดงละครชาตรีร่วมสมัยเพิ่มเติมว่า “คณะคิดบวกสิปป์ ยินดีที่ได้จัดการแสดงชุดนี้ โดยประยุกต์เอาศาสตร์ของการแสดงละครชาตรีโบราณ ผสมผสานกับบทพูดที่ทันสมัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ชมละครชาตรีได้อย่างไม่ขัดเขิน อีกทั้งการเขียนบทที่มีเนื้อหาที่เรานำเสนอผ่านตัวละคร เมรี ทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้ถึงอํานาจของ “ภาษา” และการสื่อสารที่มีผลต่อตัวละคร การถ่ายทอดที่มีมุมมองของผู้เล่า และการตีความของผู้ฟังสะท้อนความเป็นเหตุผลและมีการเรียนรู้ต่อข้อเท็จจริงอย่างไร สุดท้ายแล้ว ผู้ชมจะเป็นผู้ตัดสินว่า เมรี เป็นใคร เมื่อเรื่องเหล้า…กลายเป็นเรื่องเล่า”